เปิดชื่อ 12 รองนายกรัฐมนตรีสมัยยิ่งลักษณ์ ใครทำอะไรอยู่

เรื่องแซ่บตลอดหลายวันที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นข้อกล่าวหาเชิงชู้สาวที่ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด ออกมาเปิดเผยว่าเกี่ยวข้องกับอดีตรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

ข้อกล่าวหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นในจังหวะการเมืองที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คือ บรรดารองนายกรัฐมนตรีเหล่านั้นหลายคนก็ยังคงโลดแล่นในการเมืองไทย ขณะเดียวกันหลายคนเลือกยุติบทบาทของตัวเองไปแล้ว

ดังนั้น จึงขอพามาสำรวจว่า 12 รองนายกรัฐมนตรีสมัยยิ่งลักษณ์เป็นใครกันบ้าง และบุคคลเหล่านี้กำลังทำอะไรอยู่

รายชื่อ 12 อดีตรองนายกฯ สมัยยิ่งลักษณ์

กิตติรัตน์ • โกวิท • เฉลิม • ชุมพล • นิวัฒน์ธำรง • ประชา • ปลอดประสพ • พงษ์เทพ • ยงยุทธ์ • ยุคล • ยุทธศักดิ์ • สุรพงษ์

  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

    อดีตรองนายกรัฐมนตรีรายนี้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคที่นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันยังทำหน้าที่รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคดังกล่าวในด้านเศรษฐกิจด้วย

  • พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ
    จากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุคอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มาสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก่อนเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

  • ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง

    แม้ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่อดีตรองนายกรัฐมนตรีรายนี้ก็ไม่เคยหายไปจากพื้นที่สื่อ เพราะนอกจากจะมีฝีปากที่ดุดันนแล้ว ร.ต.อ. เฉลิม ก็ยังคอยเป็นปากเสียงให้กับหลายภาคส่วนและพรรคเพื่อไทยเสมอ

    เมื่อเดือน ต.ค. 2565 นักการเมืองรายนี้ก็ยังร่วมโต๊ะแถลงกับผู้บริหารระดับสูงของพรรค และวิจารณ์รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “ฉลาดน้อย”

  • นายชุมพล ศิลปอาชา


    นายชุมพลเคยเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาและรัฐมนตรีอีกหลายตำแหน่ง ทั้งยังเป็นน้องชายของอดีตนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา หรือเป็นอาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบัน ซึ่งก็คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา อีกด้วย

    นายชุมพลเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2556 ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

  • นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล

    งานสายการบริหารในบริษัทไอทีชื่อดัง ทำให้นายนิวัฒน์ธำรงได้เข้ามาสู่วงการการเมืองหลังจากย้ายบริษัทมาทำงานให้กับชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น

    เมื่อปี 2554 ยังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย และได้รับความไว้วางใจให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2556

    ถ้าหากไม่นับข่าวฉาวเรื่องภรรยาน้อยดังกล่าว นายนิวัฒน์ธำรงกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในรอบปีที่ผ่านมา จากการถูกคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้องร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ และสื่อมวลชน 2 สำนัก เกี่ยวกับการจัดโร้ดโชว์ Thailand 2020

  • พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก

    อดีตตำรวจรายนี้ ที่มีฉายาว่า “อินทรีอีสาน” ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2556 แต่ก็ยุติบทบาทลงในเดือน พ.ค. 2557 ก่อนถูกรัฐประหาร เพราะถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับการโยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

    อดีตรัฐมนตรีรายนี้ยังเคยเกือบได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อปี 2554 เพราะหลังจากยุบพรรคพลังประชาชน บรรดา ส.ส. ก็ต้องมาโหวตกันใหม่ว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ.ประชา ก็ถูกเสนอชื่อ แต่กลับแพ้เสียงให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

  • นายปลอดประสพ สุรัสวดี

    คนจำนวนมากอาจไม่คุ้นนักถ้าบอกว่านักการเมืองรายนี้เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี แต่อาจจดจำได้มากกว่าเมื่อกล่าวถึงการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำ เช่น ผลักดันการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ จ.แพร่ และเขื่อนแม่วงก์ ที่ จ.นครสวรรค์ เรื่อยไปถึงการวิจารณ์การบริหารน้ำท่วมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่นายปลอดประสพกล่าวโจมตีหลายครั้ง

    ส่วนเรื่องข่าวฉาวล่าสุดนี้ นายปลอดประสพกล่าวเมื่อวันจันทร์ (9 ม.ค.) อย่างชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องและไม่ใช่รองนายกรัฐมนตรีคนนั้น

  • นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา

    อดีตรองนายกรัฐมนตรีรายนี้ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ทั้งยังเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายตำแหน่ง ซึ่งในสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย

    แต่เมื่อปี 2564 นักการเมืองรายนี้ก็ตัดสินใจแยกทางกับบ้านหลังดังกล่าว และเคยให้สัมภาษณ์กับ TOP News ในคลิปที่เผยแพร่ผ่านยูทูบเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2565 ว่าที่จริงอยากวางมือตั้งแต่ถูกรัฐประหารปี 2549 แล้ว และถึงเวลาของคนรุ่นใหม่เสียที

    “คนรุ่นอย่างพวกผมเนี่ยนะครับอยู่กันมานานแล้ว อยู่ขนาดนี้เนี่ย ก็ควรที่จะถอยได้ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ให้เขาเข้ามาแสดง(ความสามารถ)บ้างนะครับ”

  • นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ

    หลังจากมีข่าวฉาวเรื่องนี้ขึ้นมา อดีตรองนายกรัฐมนตรีรายนี้ก็ปฏิเสธว่าตนไม่ใช่บุคคลดังกล่าวตามที่หลายคนตั้งข้อสังเกต และเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยขับทนายตั้มออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

    นายยงยุทธ์เป็นชาว จ.สุราษฎร์ธานี และเข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ที่ขณะนั้นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง

    เมื่อปี 2563 อดีตรองนายกรัฐมนตรีรายนี้ตกเป็นข่าวฮือฮา เพราะถูกควบคุมตัวส่งเข้าเรือนจำ หลังจากศาลฎีกาพพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์

  • นายยุคล ลิ้มแหลมทอง

    อดีตรองนายกรัฐมนตรีรายนี้ เรียนจบด้านสัตวแพทยศาสตร์และเข้าทำงานตรงสายในกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้เป็นปลัดกระทรวงดังกล่าวเมื่อปี 2552

    การเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลยกย่องจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (โอไออี) เมื่อปี 2554 อาจเข้าตารัฐบาลในขณะนั้น จนได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี 2555 ก่อนได้ควบเป็นรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2556

  • พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา

    อายุที่สูงถึง 85 ปี แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะอดีตรองนายกรัฐมนตรีรายนี้กำลังดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์กีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีเกมส์) อยู่

    เมื่อปี 2544 ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ของพรรคไทยรักไทย และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในอีก 10 ปีต่อมา และเมื่อปี 2555 ก็ได้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี

  • นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

    ผู้ล่วงลับรายนี้จากโลกไปตั้งแต่ปี 2563 แม้เคยร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่ภายหลังก็ตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย

    นายสุรพงษ์มีบทบาทอย่างโดดเด่นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยระหว่างนั้นถูกฝั่งตรงข้ามวิจารณ์การทำหน้าที่เกี่ยวกับการคืนพาสปอร์ตให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ลี้ภัยในต่างประเทศ