อดีต กรธ.แนะเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯ อีกรอบได้ แค่ชง 2 ชื่อให้ญัตติมีความต่าง

อดีต กรธ. แนะทางออกเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯ อีกรอบได้ แค่ชง 2 ชื่อให้ญัตติมีความแตกต่าง ก็ไม่มีปัญหาแล้ว

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงมติรัฐสภาตีตกเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำรอบสอง โดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ว่าไม่สามารถเสนอญัตติซ้ำได้ ทำให้รัฐธรรมนูญด้อยค่าลงหรือไม่ ว่า ข้อที่ 41 เป็นข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่มี สส.-สว. ถือเป็นองคาพยพของรัฐธรรมนูญ และในรัฐธรรมนูญ ม.272 เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่เลือกกันในรัฐสภา ในฐานะที่ตนอยู่ใน กรธ. ยืนยันไม่มีสิ่งใดไปทำให้รัฐธรรมนูญด้อยค่าลง ส่วนนักวิชาการ-นักกฎหมายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญนี้

ดังนั้น ไม่ว่ามติที่ประชุมรัฐสภาจะออกมาอย่างไร การถกเถียงข้อบังคับที่ 41 ก็เป็นไปตามครรลองอยู่แล้ว และการตีความว่าสามารถเสนอซ้ำได้ ค่อนข้างหน้าอาย พร้อมยกตัวอย่างว่า การนัดประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ จะมีการเสนอญัตติว่าวันนี้จะอภิปรายเรื่องอะไร แต่ในกรณีนี้ มีข้อถกเถียงว่าทำได้หรือไม่ได้ในการเสนอชื่อซ้ำ จึงนำข้อบังคับที่ 41 มาพิจารณา หากเป็นญัตติและตกไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำมาได้อีก

ทั้งนี้ ถ้าการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 จะเสนอชื่อคู่เทียบ เช่น นายพิธา และแคนดิเดตคนอื่นอีก 1 คน จะถือว่าซ้ำหรือเป็นญัตติใหม่ นายอมร ชี้แจงว่า การนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 กรกฎาคมยังเร็วไป แต่ก็เป็นไปได้ที่เสนอ 2 ชื่อ และเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา ที่จะบรรจุญัตตินี้เข้าไป ส่วนการตีความเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 1 คน เสนอได้แค่ครั้งเดียวหรือไม่ มองว่าการเสนอชื่อซ้ำ หลายคนอาจยังไม่มีความเข้าใจ แต่ในข้อบังคับการประชุม กำหนดไว้ชัดเจนว่า การเสนอคนเดียว คนเดิม และญัตตินี้ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอใหม่ได้ แต่หากในญัตติมีความเปลี่ยนแปลง ขอย้ำว่าประธานรัฐสภาสามารถใช้ดุลพินิจบรรจุญัตติได้

ขณะเดียวกัน การเสนอญัตติไม่ได้ตีความที่ตัวบุคคล ไม่ได้อยู่ที่ตัวญัตติ แต่ถ้าเป็นคนใหม่ ก็ทำได้ การจะเสนอกี่คน ก็แล้วแต่ที่ประชุมที่สามารถทำได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นญัตติที่ซ้อนกัน และตกไปแล้ว ไม่สามารถทำได้