ตามคาด! รัฐสภาปัดตกร่างแก้ไข รธน. 4 ฉบับ

ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับด้วยคะแนนเสียงดังนี้

1.คะแนนรับหลักการ 382 ต่อ 252 แต่ได้คะแนนจาก ส.ว. เพียง 40 คะแนน ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 3 ผลคือรัฐสภา เป็นมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของบุคคล และชุมชน

2.คะแนนรับหลักการ 346 ต่อ 299 แต่ได้คะแนนจาก ส.ว. เพียง 8 คะแนน ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 3 ผลคือได้คะแนนไม่เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เป็นมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม  

3.คะแนนรับหลักการ 346 ต่อ 292 แต่ได้คะแนนจาก ส.ว. เพียง 9 คะแนน ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 3 ผลคือได้คะแนนไม่เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เป็นมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรีจากการเลือกโดย ส.ส. เท่านั้น 

4.คะแนนรับหลักการ 356 ต่อ 253 แต่ได้คะแนนจาก ส.ว. เพียง 23 คะแนน ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 3 ผลคือได้คะแนนไม่เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เป็นมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ของสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ

โดยเงื่อนไขการลงมติในวาระแรกต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกของสองสภาคือ 364 คะแนน โดยในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือต้องได้คะแนนจาก ส.ว. 84 คนขึ้นไป ซึ่งในการอภิปรายเป็นเวลา 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 – 7 กันยายน 2565 มี ส.ส. และ ส.ว. อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ส.ว. ที่ไม่เห็นด้วยยืนยันว่า ส.ว. มาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านการลงประชามติมาแล้ว อีกทั้ง ส.ว. เองก็เคยช่วยโหวตแก้รัฐธรรมนูญจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นสองใบมาแล้ว พร้อมย้ำว่า ส.ว. เองไม่ได้ถูกครอบงำโดยรัฐบาลและมีเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจ แต่ขอฝ่ายค้านอย่าเอาแต่ตำหนิ เสียดสี ส.ว. ขณะที่ ส.ว. ที่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับให้ความเห็นว่า ตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว หากนายกรัฐมนตรีมาจากการโหวตของ ส.ว. แต่ไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และอยู่ได้ไม่นาน เพราะต้องเจอกับอภิปรายไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้ คำนูน สิทธิสมาน ส.ว. ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า หน้าที่ของ ส.ว. ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 272 คือพิทักษ์การปฏิรูปประเทศ แต่ตอนนี้แผนการปฏิรูป 5 ปีที่ผ่านมาจะเสร็จในเดือน เม.ย. ปี 2566 แล้ว ส.ว. จึงไม่จำเป็นต้องมีอำนาจตามมาตราดังกล่าว

กิตติศักดิ์ชกใต้เข็มขัดกล่าวหารังสิมันต์ไม่จ่ายหนี้ กยศ.

อย่างไรก็ตามในการอภิปราย มีการปะทะคารมกันระหว่าง ส.ส. ฝ่ายค้านและ ส.ว. อยู่เป็นระยะๆ เช่น ระหว่างที่รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า นายกรัฐมนตรีมักจะอ้างว่า ส.ว. มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัครแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด แต่แค่จำนวน 50 คน จาก 250 คน คิดเป็นแค่ 20% และมาอ้างว่า ส.ว. ชุดนี้เป็นประชาธิปไตยแล้ว ในขณะที่อีก 80% คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จิ้มมาล้วนๆ มีทั้งแก๊งเตรียมทหารรุ่น (ต.ท.) 12 เพื่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 21 คน, แก๊ง ต.ท.6 เพื่อน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 5 คน, รวมถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ ศิษย์เก่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอีกสารพัดคณะที่เคยร่วมงานกับ คสช. จำนวนถึง 150 คน

ทำให้กิตติศักดิ์  รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นประท้วงว่า ขอให้ถอนคำว่าแก๊ง วิจารณ์คนอื่นดูตัวเองบ้าง หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังไม่ใช้เลย สำเหนียกตัวเองบ้าง และเป็น ส.ส. ที่มีคะแนนปัดเศษมาอย่าทะนงตัว ด้านรังสิมันต์ จึงลุกขึ้นกล่าวว่า ขอถามว่าคำว่าแก๊ง ใครเสียหาย ถ้าใช้คำพูดรุนแรงทำให้เจ็บกระดองใจ ไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับ ทำให้นายกิตติศักดิ์ สวนกลับว่าถ้าตนพูดบ้างว่ามีพวกที่ยังไม่ใช้หนี้ กยศ. นายพรเพชร จึงเบรกให้ลดคำพูดที่ไม่เหมาะสม และให้นายกิตติศักดิ์ถอนคำพูด แต่นายกิตติศักดิ์ไม่ยอมถอน ทำให้นายพรเพชรห้ามนายกิตติศักดิ์อภิปรายหรือพูดอีก และรังสิมันต์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงการไม่ใช้หนี้ กยศ. ว่า ตนไม่เคยเบี้ยวหนี้ ก่อนหน้านี้ตนยากจนต้องกู้เรียน แต่ก็ชำระหนี้มาโดยตลอดไม่เคยผิดนัดแม้แต่ครั้งเดียว และหลังจากที่ตนมาเป็น ส.ส. ได้ใช้หนี้เพิ่มมาตลอดจนวันนี้ตนไม่เหลือหนี้ กยศ. แม้แต่บาทเดียว 

ก้าวไกลฉุนเสรีพาดพิงพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยทั้ง 4 ร่าง ส่วนเพื่อน ส.ว. หลายท่าน ก็มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แสดงให้เห็นว่า ส.ว. มีความเป็นอิสระ มีความคิดของตัวเอง ไม่ได้ถูกครอบงำสั่งการ หรือไม่ได้มาชดใช้หนี้ใครอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ ส.ว. ชุดปัจจุบันถูกกล่าวหาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ว่าไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ตนยืนยันว่ามาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรคเพราะอุบัติเหตุทางการเมือง และจริงๆ เมื่อถูกยุบไป สมาชิกในพรรคนั้นต้องพ้นจากความเป็น ส.ส. แต่ด้วยอานุภาพของรัฐธรรมนูญ 60 บัญญัติว่า ให้พรรคการเมืองที่ถูกยุบสามารถหาพรรคอื่นได้ภายใน 60 วัน จึงมาอยู่พรรคปัจจุบัน อยากถามว่าพรรคก้าวไกลเคยได้มาสักคะแนนเสียงจากประชาชนหรือไม่ ซึ่งก็ไม่เคย เพราะก็มาจากรัฐธรรมนูญ 60 เหมือนกัน 

ทำให้ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นท้าเสรีว่า “หมดหนี้ คสช. ให้ลาออกมาลงเลือกตั้งแข่งกันดีกว่า” ขณะที่ อมรัตน์ ลุกขึ้นประท้วงว่า แบบนี้หรือที่เรียกว่าตัวเองมีวุฒิภาวะ ก็สมควรแล้วที่ประชาชนจะรังเกียจ ประธานฯ ไม่ให้พูดก็ยังจะพูด แบบนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างที่เลว จากนั้น เสรี ได้ประท้วงให้อมรัตน์ ถอนคำพูด แต่พรเพชร ชี้แจงว่าไม่ได้ยิน และอมรัตน์ได้เดินออกจากห้องไปแล้ว ขอให้เสรี ดำเนินการอภิปรายต่อ  กิตติศักดิ์ จึงลุกขึ้นประท้วงว่า ถ้าหากพูดให้ร้ายแล้วเดินออกจากห้องประชุม ตัวเองจะทำบ้าง