“ชัชชาติ” วิ่งตามหาพนักงานกวาดถนน ปมร้องท่อทิพย์ โล่งอกไม่ได้โดนตำหนิ

“ชัชชาติ”  วิ่งตามหาพนักงานกวาดถนน ปมท่อทิพย์ หวั่นโดนตำหนิ โล่งใจไม่ได้รับผลกระทบจากกระแสข่าว ขอบคุณที่กล้าแจ้งปัญหาผู้ว่าฯ

นายชัชชาติ สิทธพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีที่ก่อนหน้านี้ขณะไปวิ่งที่สวนรถไฟ เมื่อผ่านย่านอารีย์ และเจอพนักงานกวาดถนนแจ้งว่ามี “ท่อทิพย์” ที่ไม่สามารถระบายน้ำได้ ซึ่งตนเองรู้สึกเป็นห่วงกลัวว่าจะโดนตำหนิ และเมื่อเช้าได้กลับไปวิ่งเพื่อตามหาพนักงานกวาดถนนอีกครั้ง จนพบว่าปฏิบัติหน้าที่อยู่จึงเข้าไปพูดคุย ซึ่งพบว่าพนักงานกวาดคนดังกล่าวชื่อว่าจูน เมื่อพบแล้วก็สบายใจที่รู้ว่าไม่ได้ถูกลงโทษอะไร พร้อมยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีคนผิด

นายชัชชาติ ยังได้กล่าวขอบคุณพนักงานกวาดคนดังกล่าวด้วยว่า ขอบคุณน้องจูนที่กล้านำปัญหามาแจ้งผู้ว่าฯ และหากใครพบเจอผู้ว่าฯ ก็สามารถมาแจ้งปัญหาได้เลย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ท่อทิพย์หรือไม่สามารถระบายน้ำได้ แต่พื้นผิวถนนมีลักษณะเป็นแอ่งและท่ออยู่สูงกว่า ทำให้น้ำไปไม่ถึงท่อ นายชัชชาติ ระบุว่า ถนนใน กทม. มีหลายเส้นทางที่มีลักษณะเช่นนี้ ซึ่งยืนยันว่าหากทุกคนช่วยกันสังเกตก็จะเห็นปัญหา หากทุกคนร่วมมือกันก็จะสามารถเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้

  • ชัชชาติ วิ่งผ่านอารีย์เจอ “ท่อทิพย์” ระบายน้ำไม่ได้ แซวกรุงเทพไม่ได้มีแค่กล้องดัมมี่

นายชัชชาติ สิทธพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ว่า ตอนนี้พบตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จากการตรวจ ATK และคาดว่ามีผู้ป่วยที่รักษาตัวเองอยู่ที่บ้านด้วย

แต่จากการประเมินสถานการณ์แล้วไม่น่าเป็นห่วง อยู่ในขั้นที่รับมือได้ เบื้องต้นเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้ และได้สั่งเพิ่งเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียว 500 เตียง และเตียงในศูนย์พักคอยอีก 300 เตียง สั่งเจ้าหน้าที่สำรวจออกซิเจน สต๊อกยาฟาวิพิราเวีย และยาโมลนูพิราเวียร์

อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย เป็นห่วงโดยเฉพาะกลุ่ม 608 และขอให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็ม 3 และเข็ม 4 ด้วย

ซึ่งที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้เปิดให้ประชาชน walk in มาฉีดวัคซีนได้ทุกวัน หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 50 เขต ในกทม. พร้อมรายงานตัวเลขการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ของประชาชน ตอนนี้อยู่ที่ 5,728,273 โดส หรือคิดเป็น 68.10 % ส่วนเข็ม 4 อยู่ที่ 1,850,993 โดส หรือคิดเป็น 22.01 %

ขณะที่การติดเชื้อในกลุ่มโรงเรียนสังกัด กทม. ก็ไม่น่าเป็นห่วง จากตัวเลขพบการติดเชื้อเพียง 0.84 % หรือ 2,133 คน เพราะส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อในเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก เพราะเด็กโตจะมีกิจกรรมหลังเลิกเรียน เช่น เล่นกีฬา

สำหรับข้อมูลศูนย์พักคอย (Community Isolation : CI) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า จำนวนศูนย์พักคอยเติมเต็มศักยภาพ 46 แห่ง 5,505 เตียง / ขอปิดศูนย์พักคอยในช่วงสถานการณ์ดีขึ้น คือพื้นที่โรงเรียน เจ้าของขอคืนพื้นที่ 39 แห่ง ส่วนศูนย์พักคอย ที่ยังคงเปิดให้บริการมี 1 แห่ง คือศูนย์พักคอยเขตคันนายาวจำนวน 127 เตียง

สำหรับศูนย์พักคอยที่ เตรียมพร้อมสามารถเปิดให้บริการได้ใน 3-7 วัน แต่งต้องมีการปรับปรุงพื้นที่และอุปกรณ์ 4 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเขตบางกอกใหญ่จำนวน 50 เตียง / ศูนย์พักคอยวัดกำแพงเขตภาษีเจริญจำนวน 100 เตียง / ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเขตทุ่งครุจำนวน 51 เตียง และ ศูนย์พักคอยมีนบุรี 1 เขตมีนบุรีจำนวน 115 เตียง รวมจำนวนเตียงที่สามารถเปิดเพิ่มได้ 316 เตียง