อ็อกฟอร์ด บรรจุชื่อผัดไทย “pad thai” เป็นคำสากล เมนูอาหารที่ทั่วโลกรู้จัก

เว็บไซต์ Oxford Dictionaries บรรจุชื่อ “pad thai” (ผัดไทย) ให้เป็นคำสากลที่ทั่วโลกรู้จัก อยู่ในหมวด C2 ซึ่งหมายถึงหมวดศัพท์ทั่วไปที่ถูกบัญญัติ ใช้เพื่อแสดงให้รู้ถึงแหล่งที่มาต้นกำเนิด หรือพื้นถิ่นของสิ่งๆ นั้น และใช้เป็นชื่อสากลเหมือนกับคำว่า pizza จากอิตาลี

หากพิมพ์ภาษาอังกฤษตัวเล็กว่า “pad thai” จะพบกับความหมายว่า “เป็นอาหารจากประเทศไทย ซึ่งเป็นชนิดเส้น ที่ทำมาจากข้าว เครื่องปรุง ไข่ ผัก เนื้อสัตว์หรืออาหารทะเล” 

“a dish from Thailand made with a type of noodles made from rice, spices, egg, vegetables and sometimes meat or seafood”

จุดกำเนิดของ ผัดไทย

ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นจีนได้เข้ามาที่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก หนึ่งในเมนูที่ได้รับความนิยมคือ ก๋วยเตี๋ยว ตอนนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รณรงค์ให้ประชาชนหันมารับประทาน ก๋วยเตี๋ยว กันมากขึ้น เพื่อลดการบริโภคข้าวภายในประเทศ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากสงคราม

“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอ ใช้เงินเก้าแสนบาทนั้นก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกัน ไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงิน”

 

หลังจากมีแนวคิดจะดัดแปลงให้เป็นอาหารไทยเลยนำก๋วยเตี๋ยวมาผัดแทน ตอนนั้นใช้เส้นจันทบูร ส่วนหมูก็จะไม่ใส่เพราะกลัวถูกมองเป็นผัดซีอิ๊วซึ่งจะทำให้เหมือนอาหารจีนมากเกินไป เลยใส่กุ้งแห้ง ตามด้วยเต้าหู้เหลือง มะนาว ใบกระเทียม หัวปลี ถั่วงอก ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศไทย ทั้งหมดรวมกันและถูกตั้งชื่อว่า ก๋วยเตี๋ยวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย พอกาลเวลาผ่านไปเลยเหลือแค่ ผัดไทย

หลังผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ผัดไทย ได้กลายเป็นอีกหนึ่งอาหารประจำชาติไทยที่ได้รับความนิยมและยอมรับไปทั่วโลก ไม่ต่างกับ ต้มยำกุ้ง