“There’s Always Spring – เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน” หนังสือที่ว่าด้วยความหวังของบ้านเมือง

Highlight

  • หนังสือ “There’s Always Spring – เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน” หนังสือที่รวบรวมภาพถ่ายจากช่างภาพและผู้สังเกตการณ์การชุมนุม ของโครงการ Mob Data Thailand จากการชุมนุมกว่า 1,000 ครั้ง
  • “การวางตัวเป็นกลาง” คือหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดที่เหล่าผู้สังเกตการณ์จำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • นับตั้งแต่ปี 2563 – 2564 มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงในการชุมนุมอย่างน้อย 602 คน และผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน 
  • ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 มีการตั้งข้อหาดำเนินคดีประชาชน จากสถานการณ์ชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้ว อย่างน้อย 1,853 คน ในจำนวน 1,120 คดี

นับตั้งแต่ปี 2563 ประเทศไทยได้เห็น “พลัง” ของคนรุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การชุมนุมมากมายภายใต้แฮชแท็กสุดสร้างสรรค์กระจายไปทั่วทุกหัวมุมเมือง การชูสามนิ้ว และสิ่งของต่าง ๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมของคนในยุคนี้ ส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่พอใจกับการบริหารของรัฐบาล และ “ระบบโครงสร้าง” ที่กดขี่ประชาชนมาอย่างยาวนาน ทว่า ในโมงยามที่ความหวังของประชาชนกำลังสุกสว่าง การปราบปรามจากภาครัฐก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน การใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ที่นำไปสู่การใช้ “แก๊สน้ำตา” และ “กระสุนยาง” เช่นเดียวกับการจับกุมและคุมขัง ที่กลายเป็น “อาวุธ” ชิ้นล่าสุดที่รัฐนำมาใช้กับประชาชนในประเทศ 

เรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนในช่วงเวลาประวัติศาสตร์เหล่านี้ ถูกบันทึกในหนังสือ “There’s Always Spring – เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน” หนังสือที่รวบรวมภาพถ่ายจากช่างภาพและผู้สังเกตการณ์การชุมนุม ของโครงการ Mob Data Thailand ที่บันทึกทุกเรื่องราว ทั้งข้อเท็จจริง ความสร้างสรรค์ ความสนุกสนาน รอยยิ้ม คราบน้ำตา และการใช้ความรุนแรง ของการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ GalileOasis 

โครงการ Mob Data Thailand 

ในช่วงปี 2563 ที่ประชาชนมีความต้องการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหรือ “ผู้มีอำนาจ” แก้ไขปัญหาสังคมและเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จึงเปิดตัว “อาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม” ภายใต้โครงการ Mob Data Thailand เพื่อสังเกตการณ์ และบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในที่ชุมนุม โดยใช้หลักการที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน 

บรรยากาศในงานเปิดตัวหนังสือ

บุศรินทร์ แปแนะ ผู้ประสานงานโครงการ Mob Data Thailand จาก iLaw ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 การชุมนุมขยายตัวอย่างรวดเร็ว สวนทางกับจำนวนผู้สังเกตการณ์การชุมนุมที่มีจำนวนจำกัด ทำให้กลายเป็นความท้าทายหนึ่งของการจัดทำโครงการนี้ เช่นเดียวกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ผู้สังเกตการณ์ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะการโดนแก๊สน้ำตา แต่โครงการก็ประสบความสำเร็จในการเก็บข้อมูลของการชุมนุมและแนวทางการปฏิบัติกับผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงภาพถ่ายเหตุการณ์จากผู้สังเกตการณ์ และช่างภาพที่ลงพื้นที่ชุมนุม ทำให้เว็บไซต์ Mob Data Thailand กลายเป็นเว็บไซต์ที่สามารถบันทึกเรื่องราวการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563 – 2565 ได้มากที่สุด ปัจจุบันสามารถรวบรวมข้อมูลการชุมนุมได้มากกว่า 1,000 ครั้ง จากการชุมนุมทั้งหมด 2,000 กว่าครั้ง และเรื่องราวเหล่านั้นก็ถูกนำมาเผยแพร่ลงในหนังสือ “There’s Always Spring – เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน” 

บุศรินทร์ แปแนะ ผู้ประสานงานโครงการ Mob Data Thailand

เรื่องเล่าจาก “ผู้สังเกตการณ์” 

ภายในงานเปิดตัวหนังสือวันนั้น มีวงพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์ของอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม โดยพวกเขาได้สะท้อนขั้นตอนการทำงาน เรื่องราวประทับใจ และความยากลำบากของการลงพื้นที่ชุมนุม แม้แต่ละคนจะมีจุดเริ่มต้นและแรงจูงใจในการมาเริ่มต้นทำงาน “อาสาสมัคร” ที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย แม้หลายครั้ง การชุมนุมจะหมายถึงการโดนแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง

บรรยากาศภายในงานเปิดตัวหนังสือ

“การวางตัวเป็นกลาง” คือหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดที่เหล่าผู้สังเกตการณ์จำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้ในหลายสถานการณ์ที่พวกเขาก็อยากถอดหัวโขนผู้สังเกตการณ์และไปช่วยเหลือผู้ชุมนุม นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ไม่เพียงเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ในการชุมนุมเท่านั้น แต่บางครั้งพวกเขาต้องทำหน้าที่ “ผู้ตรวจสอบความจริง” ในช่วงเวลานั้น เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชนทั่วไปอีกด้วย ทั้งนี้ หนึ่งในผู้สังเกตการณ์ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ย้ำว่าหน้าที่ผู้สังเกตการณ์การชุมนุมมีความสำคัญ เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องเก็บข้อมูลที่รอบด้านจากสถานการณ์ชุมนุม และนั่นอาจกลายเป็นหลักฐานที่สามารถนำไปใช้ได้ 

ข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์การชุมนุมที่ปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2563 – 2564 มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงในการชุมนุมอย่างน้อย 602 คน และผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน 

หนังสือ

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 มีการตั้งข้อหาดำเนินคดีประชาชน จากสถานการณ์ชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้ว อย่างน้อย 1,853 คน ในจำนวน 1,120 คดี ทั้งนี้ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุม และเป็นคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1,467 คน ในจำนวน 647 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563) 

ตัวแทนสวนดอกไม้แห่งความหวัง 

นอกจากเรื่องเล่าจากผู้สังเกตการณ์การชุมนุมแล้ว ภายในงานยังมีเสวนาจาก “ตัวแทนสวนดอกไม้แห่งความหวัง” ที่มาทบทวนความทรงจำของการชุมนุมในช่วงปี 2563 – 2564 ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และชลธิชา แจ้งเร็ว พร้อมแบ่งปันเรื่องราวประทับใจจากการชุมนุม และมุมมองต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในอนาคตอันใกล้  

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

“ผมว่ามันมีความหวัง มีความคิดสร้างสรรค์ มีการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบขยาย ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่กระจายไปในภูมิภาคอื่น ๆ แต่ละจังหวัด ตั้งแต่ที่ผมสู้มา ตอนปี 57 เราสู้กับรัฐประหาร แต่ว่าคนไม่เข้าใจ มีคนด่าว่า เราก็ต่อสู้กับความคิดที่ว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ทำไมคนไม่เข้าใจ แต่พอมาปี 63 – 64 มันก็เป็นสิ่งยืนยันว่ามีคนคิดแบบนี้อีกเยอะ จากที่สู้มาท้อ ๆ ก็ทำให้เราเห็นความหวังมากขึ้น แล้วมันก็ทำให้ผมมีพลังเยอะมากตั้งแต่ได้มาเห็นการเคลื่อนไหว” จตุภัทร์เล่า

เช่นเดียวกับอานนท์และภัสราวลีที่บอกว่า การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาทำให้มองเห็น “ความหวัง” ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ชัดเจนขึ้น สะท้อนให้เห็นสังคมที่ค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับชลธิชาที่มองว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นคือการผลักเพดานของสังคมไทย ทั้งเรื่องของรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเรื่องกฎหมายที่จำเป็นต้องขยับให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ชลธิชา แจ้งเร็ว

“ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มันทั้งสนุกและมันมาก ๆ ไม่เคยคิดเหมือนกันว่า เราจะสามารถจัดการชุมนุมที่มีคนเรือนหมื่นเรือนแสน แล้วเราปักธงทางความคิดเรื่องการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถานบันเกิดขึ้นได้จริงกลางเมืองหลวงประเทศไทย มองย้อนไปกี่ครั้ง และต่อให้ตอนนี้โดน 28 คดี เราก็ไม่เคยเสียใจ แล้วถ้าย้อนเวลากลับไปก็จะทำเหมือนเดิม อาจจะทำหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ” ชลธิชากล่าว 

เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน

“ช่วงปี 64 – 65 เป็นช่วงที่รัฐใช้กฎหมายเข้มข้นมาก ทั้งจับคนเข้าไปขัง แล้วก็ทั้งปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรง ถ้าถามว่ามันสร้างความกลัวให้มวลชนไหม มันสร้างสิ่งที่ทำให้มวลชนต้องตั้งหลักมากกว่า ว่าเราจะทำยังไงดีที่จะตอบโต้สิ่งเหล่านี้กลับไป แล้วป้องกันยังไงไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงแบบนี้กับคนของเราอีก แต่ตั้งแต่ปี 63 – 64 เป็นต้นมา มันผลักเพดานมาจนถึงที่สุดที่ทุกคนต้องการควานหาคำตอบด้วยตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้น อาวุธทางความคิดที่เราได้เปิดประเด็นไปตั้งแต่ปี 63 มันฝังอยู่ในตัวของมวลชน พวกเขากำลังทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำลังขุดคุ้ยหาข้อมูลที่เขาจะตัดสินว่าเขาจะยังไงต่อ” ภัสราวลีสะท้อน 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ในช่วงปี 2563 – 2564 เป็นช่วงเวลาที่การชุมนุมของประชาชนเบ่งบาน เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีความหวังและให้พลัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2565 นี้ การชุมนุมของประชาชนค่อย ๆ จางหายไป เกิดเป็นคำถามว่าพลังของประชาชนที่เคยโชติช่วงได้ดับมอดไปแล้วหรือไม่ ซึ่งชลธิชาก็อธิบายว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ชุมนุมต้องเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมหยิบยกปัญหาเรื่องการติดกำไล EM และเงื่อนไขการประกันตัวที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนที่เคลื่อนไหวประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 

ด้านจตุภัทร์ก็มองว่า การเคลื่อนไหวที่ลดน้อยลงคือภาพสะท้อนของ “การเป็นมนุษย์” เมื่อต่อสู้มาเหนื่อย ก็ต้องใช้เวลาพัก และถึงแม้จะไม่ได้ยืนอยู่บนเวทีปราศรัยหรือในขบวนชุมนุม แต่ทุกคนก็อยู่ในบทบาทอื่น ๆ แต่เมื่อถึงเวลาทุกคนจะกลับมารวมกันต่อสู้อีกครั้ง

อานนท์ นำพา

“มันเป็นช่วงตกผลึกทางความคิด แล้วมันนิ่งลึก ซึ่งผมคิดว่าการนิ่งลึกแบบนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นอันตรายของรัฐ ถ้าเรายังชุมนุมอยู่ ยังลงถนน ยังเคลื่อนไหวที่เป็นสิ่งที่เขาจับต้องได้ ผมคิดว่าเขาก็หาทางปิดช่องทางได้เกือบหมดแล้วล่ะ แต่การที่เรานิ่ง เราตกผลึก เราสะท้อนพลังบ้างบางครั้ง ผมคิดว่าเขาตกใจ อย่างผลการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ เขตหลักสี่ หรือผู้ว่าฯ กทม. ผมว่ามันเหมือนภูเขาไฟที่เริ่มมีควันขึ้นมา มันเป็นพลังที่สะสม ไม่ใช่การเงียบหาย” อานนท์เสริม 

“เราทุกคนตกผลึก ทุกอย่างมันสะท้อนออกมาเป็นหลักการหมด หลักการความเท่าเทียม เราพูดถึงเรื่องต้มเบียร์ เพศสภาพ มันสะท้อนออกมาบนหลักการเหล่านี้ แล้วก็จะสะท้อนอีกครั้งเป็นพลังช่วงเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าม็อบหายไป มันยังอยู่ มันเหมือนดาว ที่กลางคืนมันสว่าง แต่กลางวันดาวก็ยังอยู่ แค่เรามองไม่เห็นแค่นั้นเอง” อานนท์กล่าวปิดท้าย