แอมเนสตี้ชี้ เลือกตั้ง 66 คือ “โอกาสสำคัญ” ที่นักการเมืองจะแสดงเจตจำนงค์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

แอมเนสตี้ชี้การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศ ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร จะยืนยันต่อสาธารณะถึงเจตจำนงค์ที่จะคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ภาคประชาสังคม และเยาวชน 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทยต้องให้การรับประกันว่าประชาชนในไทยจะสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมประท้วงโดยสงบ และการสมาคมได้ ทั้งยังไม่ถูกลงโทษเพียงเพราะการแสดงออกอีกต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาต้องยกเลิกการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ทั้งยังดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่ขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่

“ภายหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2562 ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ประกอบกับการลุกฮือเพื่อชุมนุมประท้วงที่นำโดยเยาวชนทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับโรคระบาดส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก ทั้งยังเพิ่มทวีความไม่เท่าเทียมในสังคม และนำไปสู่ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผลต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ” 

“ประมาณ 7.6% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคนในประเทศไทย เป็นผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา เยาวชนเหล่านี้หลายคนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปราบปรามการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบจากภาครัฐ หากพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. จากทุกพรรคได้รับเลือกตั้งเข้ามา พวกเขาควรรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงเยาวชน และควรตอบรับข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงของประชาชน และแสดงเจตจำนงค์ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน” ชนาธิปกล่าว

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคมในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จัดทำชุดข้อเสนอนโยบายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก ผู้หญิง และชนพื้นเมือง โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อเรียกร้องให้ผู้สมัครสามารถจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนี้ ยังได้จัดเวทีสาธารณะในหลายจังหวัด เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง และให้นักการเมืองได้แสดงวิสัยทัศน์กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเมษายน 2566 ประชาชนอย่างน้อย 1,902 คนที่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์รัฐ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ อีกทั้งยังมีประชาชนอย่างน้อย 1,469 คนถูกดำเนินคดีฐานละเมิดข้อห้ามต่อการชุมนุมสาธารณะ และอีก 167 คนถูกดำเนินคดีตมม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พร้อมกันนี้ ประชาชนอย่างน้อย 242 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ อีก 130 คนถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย ทั้งนี้ มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 คนถูกดำเนินคดีอาญา