เร่งเปลี่ยนขยะเป็นเงิน “ชัชชาติ” เปิดตัวโครงการ “ไม่เทรวม” นำร่อง 3 เขต

ชัชชาติ ควงแอนนาเสือ กระชากผ้าคลุม เปิดตัว 3 เขตนำร่อง โครงการ “ไม่เทรวม” แจง กทม.เสียเงินจัดเก็บขยะปีละ 10,000 ล้านบาท เร่งเปลี่ยนขยะเป็นเงิน พัฒนาระบบการศึกษา

วันนี้ (4 ก.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายแสนปิติ สิทธิพันธุ์ บุตรชาย นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าฯกทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. และคณะผู้บริหารกทม. เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “ไม่เทรวม”

พร้อมเปิดตัวรถขยะแบบใหม่ซึ่งมีพื้นที่จัดเก็บเศษอาหาร โดยมีแขกรับเชิญคือ แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2022 พร้อมคณะ Miss Earth 2022 และในงานนี้มีการให้ประชาชนที่สนใจร่วมงานลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 100 คน ณ ศูนย์อาหารสวนลุมพินี สวนลุมพินี เขตปทุมวัน

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องขยะเป็นปัญหาใหญ่ของกทม. เป็นปัญหาที่พูดถึงความยั่งยืนในอนาคต ปัจจุบันเราใช้หลุมฝังกลบเป็นจำนวนมาก 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้ไม่ยั่งยืน ซึ่งการคัดแยกขยะเป็นเรื่องที่ประชาชนพูดกันมานาน ดังนั้นการแยกขยะจะทำให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น

การขยะเปียกที่ทำให้เกิดการเน่าเหม็นออกจากขยะทั่วไปจากขยะที่แห้ง ก็จะสามารถนำมารีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้สะดวกขึ้น แต่ที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากที่แยกขยะ แต่สุดท้ายกทม.เอามารวมที่รถซึ่งทำให้ประชาชนหมดหวัง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเริ่มเป็นกระบวนการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างจริงจัง ต้นน้ำคือประชาชนแยก กลางน้ำคือกทม.จัดเก็บแบบแยกด้วย และปลายน้ำคือการจัดการขยะที่แยกมาอย่างครบระบบ

โดยที่ผ่านมาเราเสียเงินในการเก็บขยะทำความสะอาดบ้านเมืองปีละเป็นหมื่นล้านบาท แต่เราเสียเงินกับการศึกษาแค่ 4 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนขยะตรงนี้เปลี่ยนมาเป็นทรัพย์สินให้ได้ ดังนั้นวันนี้ขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ร่วมมือกัน ต้องบอกว่าเราเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยเริ่มนำร่องจาก 3 เขต คือ เขตปทุมวัน พญาไท และ หนองแขม

ซึ่งจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งในชุมชน ตลาดสด ออฟฟิศ คอนโด พื้นที่อยู่ใกล้กับอยู่กลางเมือง โดยทำแบบจำลองให้เรียบร้อยก่อนว่ารูปแบบที่ทำได้ผลดีหรือไม่ แต่รถขยะที่เปิดตัววันนี้ก็ยังคงมีจุดบกพร่องอยู่ เนื่องจากมีการเสริมถังขยะไว้บริเวณท้ายรถทำให้กีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่

เชื่อว่าเมื่อเราแยกขยะเปียกออกมาแล้ว การแยกขยะก็จะง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบเมื่อเรามั่นใจใน 3 เขตนำร่องก็จะทำการขยายผลได้ทันที ดังนั้นต้องรอดูว่าโมเดลของ 3 เขตนี้จะสำเร็จเร็วแค่ไหน หากสำเร็จเร็วก็จะขยายผลต่อไป

ไม่ใช่ทำแค่เอาหน้า ไม่ใช่ทำแค่จัดอีเว้นท์ แต่ต้องทำให้ต่อเนื่อง ต้องตามจี้ทุกอาทิตย์ ดูความก้าวหน้า แก้ปัญหาอย่างจริงจัง จริงๆแล้วเรื่องขยะมีแนวคิดอีกมากมาย ปัจจุบันมีการนำถุงขยะมาวางไว้กลางชุมชนรอรถมาเก็บก็จะมีสุนัขและหนูมาแทะ พอฝนตกก็ชะลงไปที่ท่อระบายน้ำ ตอนนี้กำลังคิดเป็นแบบตะแกรงล้อมขยะมีฝาปิดโดยสามารถพับเก็บได้

แรงจูงใจที่ทำให้คนหันมาแยกขยะอาจมีหลายรูปแบบ เช่น ค่าเก็บขยะ กำลังคิดอยู่ว่าเป็นไปได้หรือไม่หากใครที่มีการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ก็จะลดอัตราค่าเก็บขยะให้ หรือถ้าแยกขยะมาอาจมีการแจกปุ๋ยหมักให้ทุกเดือน หรือบ้านไหนที่มีการคัดแยกขยะก็จะมีสติกเกอร์ติดหน้าบ้านว่าบ้านนี้ร่วมมือในการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นโดยร่วมโครงการแยกขยะ

อย่างน้อยอาจจะไม่ใช่ตัวเงินหรือสิ่งของ แต่เป็นความภาคภูมิใจว่าเรามีส่วนร่วม ที่ทำให้เมืองดีขึ้น ซึ่งในหลายประเทศไม่มีค่าตอบแทนให้ อาจจะใช้วิธีว่าหากคุณไม่แยกขยะก็จะเสียเงินมากขึ้น ตามหลักที่ว่าใครสร้างมลพิษเยอะก็ต้องจ่ายเงินเยอะ ซึ่งในอนาคตหากระบบเราสำเร็จอย่างเต็มที่และมีบางกลุ่มไม่ทำการคัดแยกขยะคุณก็อาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นในขั้นตอนต่อไป