“เรืองไกร” ยื่น กกต.สอบ “พิธา” เพิ่มปมหุ้นสื่อ ต้องให้ศาล รธน.ตัดสินเหมือนเคสธนาธร

“เรืองไกร” ยื่น กกต.สอบ “พิธา” เพิ่มปมหุ้นสื่อ เข้าข่ายต้องพ้นจากพรรค เชื่อมั่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ รอดหรือไม่อยู่ที่การตัดสิน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีเข้าข่ายพ้นจากสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 24 หรือไม่ และจะมีความผิดตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 112 วรรคหนึ่งหรือไม่ สืบเนื่องจากกรณีการถือครองหุ้นสื่อแห่งหนึ่ง

โดยนายเรืองไกร ระบุว่า การเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลของนายพิธา จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 24 ที่ระบุว่า สมาชิกพรรคต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่กำหนดในข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 การถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนใดๆ โดย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองระบุว่า คนที่รู้ตัวว่าไม่มีคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก รวมถึงกรรมการบริหารอื่นของพรรค แต่ยินยอมรับการแต่งตั้ง เพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่พรรคการเมือง แต่งตั้งบุคคล ให้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง โดยรู้ว่าคนนั้นไม่มีคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

ทั้งนี้ ในข้อบังคับพรรคก้าวไกล ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ในขณะที่นายพิธา แสดงตนเป็นสมาชิกพรรค ในข้อ 12 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิลงรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาเป็นสมาชิกพรรค ข้อ 21 กำหนดการสิ้นสมาชิกว่า เมื่อขาดคุณสมบัติตามข้อ 11 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 12 ส่วนข้อ 37 ได้บอกระบุว่ากรรมการบริหารพรรคจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อพ้นจากสมาชิกภาพ ดังนั้นข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 12 (6) จึงรวมถึงลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ทุกอนุมาตรา และใน (3) กำหนดว่า คนที่ถือครองหุ้นสื่อใดๆ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร

ขณะเดียวกัน นายเรืองไกร ระบุว่าเหตุผลดังกล่าว ทำให้มีเหตุทำให้ต้องร้องต่อ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่านายพิธา จะเข้าข่ายต้องพ้นจากสมาชิกพรรค และหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกล แต่งตั้ง หรือยินยอมให้นายพิธา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยรู้ หรือควรรู้ว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะเข้าข่ายมีคามผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 112 วรรคสองหรือไม่ ขณะที่กรรมการบริหารอื่นของพรรค ที่ร่วมรับรู้หรือสนับสนุนให้นายพิธายังคงเป็นสมาชิกและหัวหน้าพรรค จะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือ มาตา 86 ด้วยหรือไม่

ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลทุกคน ที่ยินยอมหรือยอมรับให้นายพิธาใช้สถานะของหัวหน้าพรรคลงนามรับรองให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อจะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยหรือขอให้กกต.ตรวจสอบเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เช่นเดียวกัน

นายเรืองไกร ยังระบุอีกว่า สาเหตุที่ตนเองยังไม่กล่าวหาว่า นายพิธาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ กกต. หรือไม่นั้น เนื่องจากไม่มีสถานะตามข้อบังคับของพรรค ซึ่งเป็นประเด็นที่กกต.ต้องวินิจฉัยก่อน ทั้งนี้ การถือหุ้นเดิมเมื่อปี 2549 เป็นชื่อของบิดา ก่อนมาปรากฏเป็นชื่อของนายพิธา เมื่อปี 2551 จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ได้มีการรวบรวมหลักฐานเตรียมยื่นต่อ กกต.โดยพบว่า เลขหุ้นมีการเคลื่อนไหว เนื่องจากยังมีการดำเนินกิจกรรมอยู่ สัดส่วนของผู้ถือหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงไป-มา แต่หุ้นของนายพิธายังมีอยู่เท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เมื่อเป็นคำร้องแล้ว ก็ให้พรรคก้าวไกล และนายพิธาไปยื่นแก้ข้อกล่าวหาตามขั้นตอน คนตัดสินคือกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง ณ วันนี้คิดว่าต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกรณีการถือหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ส่วนนายพิธาจะรอดหรือไม่รอดขึ้นอยู่กับการต่อสู้คดีและการตัดสินของศาล