เปิดใจร้านบะหมี่เกี๊ยวหนุนค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เชื่อทำได้จริง

ป๊อป-นายเอื้ออังกูล เหมือนละม้าย อายุ 49 ปี เจ้าของร้าน “บะหมี่เกี้ยวเย่หลิว” ริมถนนโรจนะ ขาออกเกาะเมืองอยุธยา ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ (9 ธ.ค.) ว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันเป็นนโยบายที่ดีมาก และคาดว่าจะทำได้จริง

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเป็นข่าวปรากฏว่าร้านบะหมี่เกี๊ยวแห่งนี้ติดป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า “บะหมี่เกี้ยวเย่หลิว อยุธยา พร้อมจ่ายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ภายในปี 2570” ซึ่งเป็นผลจากการที่พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท จนทำให้เกิดกระแสพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย

เจ้าของร้านรายนี้ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวไม่ได้ชื่นชอบพรรคการเมืองพรรคไหน เป็นพิเศษ แต่ติดตามข่าวสารการเมืองมาโดยตลอด ได้อ่านและฟังนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ส่วนตัวคิดว่าดีมาก คิดว่าถ้าคนมีเงินก็จะใช้เงิน เงินจะหมุนเวียน นำเงินมาซื้ออาหาร ซื้อของเครื่องใช้

สาเหตุที่เชื่อว่าทำได้นั้น นายเอื้ออังกูร กล่าวว่าเป็นเพราะไม่ได้มาปรับเป็น 600 บาทในทีเดียว จะต้องปรับขึ้นมาเป็นแบบขั้นบันได อย่างทุกวันนี้สินค้าอื่นๆ แพงทุกอย่าง อย่างร้านตนต้องใช้ทั้งผัก น้ำมันพืช เนื้อหมู ทุกอย่างราคาแพงขึ้นมาก หลายอย่างขึ้นมาเกือบเท่าตัว ต้นทุนของอาหารสูงขึ้นเรากำไรน้อยลง ร้านเราก็ยังอยู่ได้

นายเอื้ออังกูล กล่าวอีกว่า พ่อค้าแม่ค้าหลายร้านยังไม่ขึ้นราคา หรืออาจจะมีการปรับขึ้นหรือลดปริมาณลงเพื่อความอยู่รอด เพราะพ่อค้าแม่ค้าสงสารผู้บริโภค เพราะถ้าเราขึ้นราคาของแพง ลูกค้าไม่มาซื้อเรากิน ไม่มาใช้บริการ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกร้านอาหารต้องทนสู้ เพื่อแบกรับต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้น

คนมีเงินเยอะขึ้น รายได้ก็วนกลับเข้ามามากขึ้นด้วย

นายอายุวัฒน์ อังคาวุธ อายุ 49 ปี ลูกค้าที่มารับประทานก๋วยเตี๋ยว กล่าวว่าพอเห็นทางร้านติดป้ายสนับสนุนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จึงมาใช้บริการพร้อมกับช่วยรีวิวก๋วยเตี๋ยวและอาหาร ซึ่งมีรสชาติอร่อย ส่วนค่าแรงขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้นตามนโนบาย พนักงานโรงงาน ลูกจ้าง ถ้าเขาได้เงินค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท มีเงิน มีรายได้ ก็จะได้ใช้จ่ายเงิน มาใช้บริการ มาซื้อได้

นายอายุวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อร้านค้าผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้น เงินก็จะเกิดการหมุนเวียน อย่างทุกวันนี้ค่าแรงวันละ 300-350 บาท ใครมีเงินน้อยจะมากินอาหาร กินข้าวก็ต้องประหยัด เพราะยังมีรายจ่ายอื่นทั้งค่าน้ำค่าไฟ จึงต้องเก็บไว้ใช้อีก คิดกันง่ายๆ ถ้าเขามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็มีกำลังใจมีกำลังเงินในการจับจ่าย มาซื้อของเรา ร้านค้ามีรายได้มากขึ้น มันทำให้ทุกคนอยู่ได้

ลูกค้ารายนี้ เผยว่าตนก็ดำเนินธุรกิจร้านขายบะหมี่ในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.พระนครศรีอยุธยา มีพนักงาน 13 คน จ่ายค่าแรงพนักงานของร้านตามกฎหมาย พร้อมกับสวัสดิการค่าอาหารและเงินพิเศษ ตนสนับสนุนแนวคิดนี้อยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ชาวบ้านอยู่ด้วยความลำบากอยู่แล้ว

จวกคนวิจารณ์เพราะกลัวขึ้นค่าแรงสำเร็จมากกว่า

ไม่ใช่แค่นั้น นายอายุวัฒน์ ยังพูดสอดคล้องกับนายเอื้ออังกูรว่า ค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 กว่าบาท มาเป็น 600 บาท ไม่ใช่จะทำในเวลาเดี๋ยวนี้ทันที ต้องใช้เวลาการปรับขึ้น ค่าแรงจะค่อยๆ ปรับขึ้น เมื่อทุกคนมีรายได้มากขึ้น มีกำลังซื้อใช้เงิน มีการเอาเงินออกมาใช้ ปัจจุบันคนไทยพยายามที่จะออกไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เพราะเขาได้รับค่าแรงที่มากกว่าในต่างประเทศ

นายอายุวัฒน์ กล่าวว่า บางประเทศจ่ายเป็นรายชั่วโมงสูงกว่าคนไทยทำงานใน 1 วัน แล้วพอมีการออกแนวนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท หลายคนออกมาโจมตีกันแล้ว เพราะทุกคนรู้ว่าทำได้จริง แต่กลัวว่าคนที่คิดแนวนโยบายนี้จะได้รับความนิยม ถ้าทำได้จริงถามว่าใครได้รับประโยชน์ คนไทยหรือว่าเจ้าสัวได้ประโยชน์