เกิดอะไรขึ้น ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ธนาคารอันดับ 16 ของสหรัฐ พังยับชั่วข้ามคืน

Silicon Vallley Bank (ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 16 ของสหรัฐกลับพังยับในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง เกิดอะไรขึ้นกับธนาคารแห่งนี้

สำหรับคนทั่วไป ชื่อของธนาคารแห่งนี้อาจไม่คุ้นหูนัก แต่สำหรับบรรดานักลงทุนจากบริษัทร่วมทุนและสตาร์ตอัปหลายแห่ง ธนาคารแห่งนี้ถือเป็นแหล่งเงินทุนที่สนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งพบว่ามีบริษัทร่วมทุนมากกว่า 2,500 ราย และผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากใช้บริการธนาคารแห่งนี้ โดยเฉพาะในช่วงยุคโควิด-19 ที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตอย่างมาก

เงินฝากที่เคยอยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2563 พุ่งมาอยู่ที่เกือบ 200,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปี 2565

เงินเฟ้อฉุดสินทรัพย์ที่ถืออยู่ขาดทุน

ช่วงดังกล่าว เอสวีบี ไฟแนนเชียล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ กว้านซื้อสินทรัพย์ “ที่ดูเหมือนมั่นคง” มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ระยะยาวที่รัฐบาลสหรัฐค้ำประกัน ทำให้มูลค่าสินทรัพพย์ในพอร์ตของเอสวีบีเพิ่มจาก 27,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปี 2563 ทะยานมาอยู่ที่ 128,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2564

แต่แล้วเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ จนต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ทำให้สินทรัพย์เหล่านี้มีมูลค่าในตลาดเสรีลดลงทันที จนขาดทุนไปมากกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2565

ลูกค้าสตาร์ตอัปเจอพิษวงการเทคขาลง

เวลาเดียวกันนี้ บรรดาสตาร์ตอัปและบริษัทร่วมทุน ที่ต่างเผชิญชะตากรรมเดียวกันจากการผลาญเงินอย่างหนักและระดมทุนใหม่มาเสริมสภาพคล่องไม่ได้นั้น ก็แห่ถอนเงินออกมาใช้ ทำให้เงินฝากที่มีอยู่เกือบ 200,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เหลืออยู่ 173,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี

แต่ปีนี้ยิ่งหนักกว่า เพราะเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ประเมินว่าปี 2566 นี้ เงินฝากจะลดลงที่ตัวเลขหลักเดียวช่วงกลางๆ ราว 5-6% กลายเป็นว่าเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ลดลงไปแล้วด้วยเลข 2 หลัก

NOAH BERGER / AFPแบงก์รัน: ผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งผ่านหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคาร Silicon Vallley Bank ในเมืองซานตาคลารา รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐ

นักลงทุนกังวล แห่ถอนหนี

ทำให้เมื่อวันพุธ (8 มี.ค.) ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ประกาศว่าได้ขายสินทรัพย์จำนวนมากออกไป เป็นมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ แต่นักลงทุนที่กังวล จึงเทขายหุ้นอย่างหนัก ส่วนบรรดาบริษัทร่วมทุนที่ฝากเงินไว้ก็ประกาศว่าจะถอนเงินออกจากธนาคารแห่งนี้

เอกสารจากหน่วยงานที่ควบคุมหลักทรัพย์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (9 มี.ค.) ลูกค้าพยายามถอนเงินฝากออกมา รวมมูลค่าถึง 42,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 ใน 4 ของเงินฝากทั้งหมด แต่ธนาคารไม่มีเงินจ่าย และที่หนักกว่านั้นคือเงินฝากของลูกค้าจำนวนมากมีจำนวนมากเกินกว่าที่รัฐบาลสหรัฐคุ้มครองที่ 250,000 ดอลลาร์

ราคาหุ้นของซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ร่วงลงราว 60% ในวันดังกล่าว

เมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) บรรษัทประกันเงินฝากส่วนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐ ประกาศว่าลูกค้าจะเข้าถึงเงินเท่าที่รัฐบาลคุุ้มครองได้ไม่เกินเช้าวันจันทร์ ส่วนเงินที่เกินความคุ้มครองนั้นจะได้รับเงินปันผลล่วงหน้าไม่เกินสัปดาห์ถัดไป และผู้ฝากจะได้รับใบรับรองผู้ฝากและอาจได้รับเงินปันผลในอนาคตด้วยถ้าสามารถขายสินทรัพย์ของซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์

บรรษัทประกันเงินฝากส่วนกลางของสหรัฐ ระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ เป็นเหตุการณ์ธนาคารล้มครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์สหรัฐ ตามหลังการล้มของธนาคารวอชิงตัน มูชวล เมื่อปี 2551

ลามแบงก์อื่น-คริปโต

การล้มของซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ยังทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นธนาคารรายอื่นทั่ววงการ โดยเฉพาะรายที่เกี่ยวข้องกับวงการเงินคริปโตและที่ถือพันธบัตรรัฐบาล ทำให้มีการสั่งระงับการซื้อขายหุ้นของธนาคาร First Republic (เฟิสต์ รีพับลิก) และธนาคาร Signature (ซิกเนเจอร์) เมื่อเช้าวันศุกร์ (10 มี.ค.) ด้วย

ธุรกิจเงินคริปโตที่ฝากเงินกับซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ก็พลอยโดนผลกระทบไปด้วย หนึ่งในนั้นคือ เซอร์เคิล อินเทอร์เน็น ไฟแนนเชียล จำกัด ที่ฝากเงินที่นี่ 3,300 ล้านดอลลาร์ สกุลเงิน ยูเอสดีซี ที่บริษัทนี้ออกในกระดานค้าคริปโตนั้น ร่วงลงจากราว 1 ดอลลาร์ เหลือไม่ถึง 0.87 ดอลลาร์ เมื่อเช้าวันเสาร์ (11 มี.ค.) ซึ่งเสี่ยงต่อการล้มอีกเช่นกันถ้าหากท้ายที่สุดแล้วบรรดานักลงทุนเห็นว่าไม่มีทางที่เหรียญจะกลับไปสู่ระดับเดิมได้ ก็จะยอมขายขาดทุนในเวลาที่เร็วที่สุด ดีกว่าปล่อยเงินทิ้งไว้ให้เสื่อมค่าอีก