วันครูแห่งชาติ 2566: หลายแง่มุมของคุณครูและระบบการศึกษาไทย จาก Sanook.com

Highlight

  • ระบบการศึกษาไทย ปีศาจที่กัดกินความเป็นคนของครู
  • “ครูอัตราจ้าง” ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย
  • “ระบบการศึกษาไทย” มีปัญหาตรงไหนบ้าง
  • เปลือยการศึกษาไทย ทำไม “เรียนฟรี” ไม่ได้
  • ครูจุ๊ย กุลธิดา: เปลือยการศึกษาไทยช่วงวิกฤติโควิด-19
  • “ครูวุ้น” ครูเท้าไฟแห่ง TikTok “โชคดีมากที่ค้นหาตัวเองเจอ”

พระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา ปี พ.ศ. 2488 กำหนดให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครูแห่งชาติ” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ได้จัดกิจกรรมรำลึกถึงครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ในขณะที่ “อาชีพครู” ถูกเปรียบให้เป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” เป็นอาชีพของผู้ให้ ผู้เสียสละ ผู้อบรมสั่งสอนนักเรียนให้รู้วิชา และควรค่าที่จะได้รับการยกย่อง ทว่า ชีวิตการทำงานของครูก็ไม่ได้งดงามและสวยหรู แต่เต็มไปด้วยปัญหาและคราบน้ำตา ที่เหล่าคุณครูอยากสะท้อน ให้ “ผู้ใหญ่” ยื่นมือมาช่วยหาทางออก เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่เอื้อให้ครูได้สอนและนักเรียนได้เรียนอย่างแท้จริง 

ในโอกาสวันครูแห่งชาติ 2566 นี้ ขอร่วมรำลึกถึงพระคุณครู ด้วยเรื่องราวหลากหลายของคุณครูและระบบการศึกษา พร้อมสะท้อนปัญหาของครูที่หลายคนอาจไม่เคยได้รู้ เพื่อให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันสร้าง “การศึกษา” ที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนในระบบ 

ระบบการศึกษาไทย ปีศาจที่กัดกินความเป็นคนของครู

แม้กระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนผู้กุมบังเหียนหลายต่อหลายคนแล้ว แต่ปัญหาเรื่องความรุนแรงในโรงเรียนกลับไม่เคยถูกแก้ไข นักเรียนยังคงเป็นเหยื่อจากการใช้อำนาจในโรงเรียน และครูที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ก็ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างบาดแผลให้กับนักเรียนในหลายกรณีเช่นกัน แต่สิ่งที่หลายคนมองข้ามไป คือครูเองก็ตกเป็นเหยื่อของระบบอำนาจนิยมไม่ต่างจากนักเรียน 

ความเหน็ดเหนื่อยและความต้องการ “อยู่รอดไปวัน ๆ” ทำให้ครูแสดงพฤติกรรมแง่ลบหลายครั้ง ขณะเดียวกัน “โซเชียลมีเดีย” ก็มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงขยะใต้พรมเหล่านี้ แน่นอนว่ามันส่งผลให้ครูรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” และมีหลายกรณีที่ครูยกเหตุผลเรื่อง “ความหวังดี” มาอธิบายการกระทำของตัวเอง

 แม้ความหวังดีจะไม่ใช่เหตุผลที่สามารถอธิบายการกระทำของครูได้ แต่มันก็ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ปลอบใจตัวเองและหลีกเลี่ยงการยอมรับผิด จนคล้ายกับว่าความหวังดีคือ “เกราะป้องกันครู” จากการวิพากษ์วิจารณ์ของคนทั่วไป แน่นอนว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของครูเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่หากเราลองมองครูในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวก็คือผลลัพธ์จากระบบการศึกษาที่กดทับพวกเขามาอย่างยาวนาน สุดท้ายแล้วครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิด ทำผิดพลาดได้ กลัวได้ เจ็บได้ และร้องไห้เป็นเช่นเดียวกับนักเรียน ที่สำคัญคือ ครูไม่ใช่ “แม่พิมพ์” ที่ไม่มีวันทำผิดพลาดตามที่เขาหลอกลวง 

อ่านต่อ…​ ระบบการศึกษาไทย ปีศาจที่กัดกินความเป็นคนของครู  

 “ครูอัตราจ้าง” ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย (2)

ข่าวการรับสมัคร “ครูอัตราจ้าง” พร้อมค่าตอบแทนหลักพันปรากฏให้เห็นและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างร้อนแรงหลายต่อหลายครั้ง แม้จะมีเสียงสะท้อนจากคนในสังคมที่ตั้งคำถามและพยายามเรียกร้องค่าตอบแทนที่ “สมเหตุสมผล” กับภาระงานที่คุณครูอัตราจ้างต้องแบกรับ แต่ข่าวการรับสมัครครูอัตราจ้างด้วยค่าตอบแทนราคาถูกก็ยังมีให้เห็นเรื่อย ๆ จนคล้ายกับว่าสิ่งที่เคยถกเถียงกันไปก่อนหน้าไม่เคยเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของครูอัตราจ้างไม่ได้เป็นแค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่เป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” อีกยอดหนึ่งของปัญหาระบบการศึกษาไทย ที่หากปล่อยเอาไว้ก็อาจจะส่งผลเสียต่อ “ทุกฝ่าย” ในระยะยาว 

เมื่อมองสถานการณ์ของครูอัตราจ้างให้ลึกลงไป เราจะเห็นภาพสะท้อนปัญหาเรื่อง “การจัดสรรทรัพยากร” ซึ่งรวมถึงเรื่องงบประมาณ การจัดสรรกำลังคน และทรัพยากรที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของโรงเรียนและคุณครู โดยเฉพาะเรื่อง “อัตรากำลังครู” ที่ถูกจัดสรรให้กับโรงเรียนอย่างไม่เพียงพอ หรือจำนวนอัตรากำลังครูเพียงพอแล้วแต่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานของโรงเรียน 

อ่านต่อ… “ครูอัตราจ้าง” ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย 

 “ระบบการศึกษาไทย” มีปัญหาตรงไหนบ้าง (3)

ระบบการศึกษาไทย” เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นของสังคมอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ขบวนการของนักเรียนและครูไทยได้ออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง กลายเป็นกระแสถกเถียงกันในระยะหนึ่ง ก่อนที่จะจางหายไปโดยที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขและถูกปล่อยทิ้งไว้เหมือนเดิม

ปัญหาเรื่อง “ภาระงานของครู” ก็เป็นอีกปัญหาที่ส่งผลกระทบกับครูผู้สอน และส่งผลกระทบต่อไปยังตัวผู้เรียน เนื่องจากครูต้องดูแลงานอื่น ๆ ในโรงเรียนและไม่สามารถ “โฟกัส” กับการสอนอย่างเดียวได้ ประกอบกับระบบการศึกษาของไทยที่สะท้อนวิธีคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศแบบ “เสรีนิยมใหม่” หรือทุนนิยมที่ผลักภาระให้กับปัจเจก ซึ่งรวมไปถึงเรื่องระบบการประเมินด้วยเอกสารที่ทุกอย่างต้องมีรูปภาพประกอบ ก็ทำให้ระบบการศึกษาไทยตั้งอยู่บน “ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนในระบบ

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาเรื่อง “การประเมินครู” ก็เป็นอีกหนึ่งหอกแหลมที่ทิ่มแทงครูไทยมาอย่างยาวนาน โดยครูต้องเน้นผลงานที่ยิ่งใหญ่อลังการและต้องเอาผลงานของเด็กไปตั้งโชว์ เนื่องจากระบบต้องการประเมินครูในลักษณะนี้ ทำให้เกิดเป็นการส่งต่อชุดความคิดดังกล่าวไปเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบกับตัวผู้เรียนในที่สุด 

อ่านต่อ… “ระบบการศึกษาไทย” มีปัญหาตรงไหนบ้าง 

เปลือยการศึกษาไทย ทำไม “เรียนฟรี” ไม่ได้ (4)

ภาพผู้ปกครองวิ่งวุ่นซื้อข้าวของอุปกรณ์การเรียนให้กับลูกหลาน รวมถึงการรายงานข่าวโรงรับจำนำที่หนาแน่นในช่วงก่อนเปิดเทอม เนื่องจากหลายครอบครัวนำของมีค่าไปจำนำเพื่อแลกเงินมาจ่ายค่าเทอม หรือภาพของเด็กนักเรียนที่มีกระดาษติดอยู่บนเสื้อ ระบุว่า “ยังไม่ได้จ่ายค่าเทอม” สร้างความอับอายให้เด็กคนนั้น คือภาพอันคุ้นตาเมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่ ขณะเดียวกัน นโยบาย “เรียนฟรี” กลับไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติในประเทศไทย ด้วยค่าใช้จ่าย “เพิ่มเติม” ที่แยกย่อยออกมา ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ สามารถจัดการศึกษาฟรีได้ทั้งระบบตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย

การจัดสรรบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน การบริหารจัดการเงินที่ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ทิศทางของระบบการศึกษาไทย ผนวกกับปัญหาเรื่องคน กลายเป็นปัญหาและภาระมากกว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้ภาระเรื่องค่าใช้จ่ายตกไปอยู่ที่ผู้ปกครองที่จะต้องหาเงินมาให้ลูกเรียน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ “วนลูป” ที่เห็นทุกครั้งในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ 

อ่านต่อ… เปลือยการศึกษาไทย ทำไม “เรียนฟรี” ไม่ได้ 

ครูจุ๊ย กุลธิดา: เปลือยการศึกษาไทยช่วงวิกฤติโควิด-19 (5)

“ระบบการศึกษาไทย” อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยถกเถียงกันในสังคมบ่อยครั้ง ทั้งปัญหาเรื่องหลักสูตรการสอน เรื่องทรัพยากรบุคคลและเม็ดเงิน รวมไปถึงเรื่องอำนาจนิยม จนคล้ายกับว่าปัญหาของระบบการศึกษาของไทยได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ยากจะหาทางแก้ไขหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ทว่า ในห้วงเวลาที่หลายภาคส่วนพยายามหาทางออกให้กับปัญหาที่เป็นอยู่ การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ซ้ำเติมระบบการศึกษาไทยให้บอบช้ำมากขึ้น เรียกว่าปัญหาเก่า ๆ ยังไม่ทันได้แก้ไข ก็มีปัญหาใหม่ ๆ เข้ามาให้ต้องหาทางแก้ไขไม่หยุดหย่อน 

นอกจากนักเรียนจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักแล้ว ครูผู้สอนก็เป็นคนอีกกลุ่มในระบบการศึกษาที่ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์การสอนออนไลน์จากภาครัฐ และเรื่องกระบวนการวิธีสอน อย่างไรก็ตาม หากต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยเพื่อช่วยเหลือนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 สิ่งเล็กน้อยที่สุดที่รัฐบาลจะสามารถทำได้ คือการ “ลดภาระงานของครู” 

อ่านต่อ… ครูจุ๊ย กุลธิดา: เปลือยการศึกษาไทยช่วงวิกฤติโควิด-19  

“ครูวุ้น” ครูเท้าไฟแห่ง TikTok “โชคดีมากที่ค้นหาตัวเองเจอ” (6)

“การค้นหาตัวเอง” กลายเป็นสิ่งที่คนยุคใหม่ให้ความสำคัญ และเป็นประเด็นยอดฮิตที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอยู่เสมอ เมื่อเด็กไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าตัวเองชื่นชอบอะไร ไม่รู้ต้องพาตัวเองไปอยู่ที่ตรงไหน จึงจะเจอจุดที่ใช่และเหมาะสมกับตัวเอง เช่นเดียวกับผู้ใหญ่มากมายที่ต้องเผชิญกับความสับสนในชีวิต และลงเอยอยู่กับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้รักจนไม่มีความสุข แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของ “ครูวุ้น – ณรงค์ศักดิ์ ดุริยปราณีต” ครูสอนภาษาไทยของโรงเรียนวัดวังพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ค้นพบความสุขของชีวิตผ่าน “การเต้น” ที่นำเขาไปสู่ตำแหน่ง “ครูนักเต้นเท้าไฟแห่ง TikTok” และนำมาซึ่งโอกาสมากมายในชีวิตที่เกินกว่าเขาจะฝันถึง 

อ่านต่อ… “ครูวุ้น” ครูเท้าไฟแห่ง TikTok “โชคดีมากที่ค้นหาตัวเองเจอ”