ละครพล็อตเดิมของ “คดีทางเพศ VS ผู้มีอิทธิพลทางการเมือง”

Highlight

  • คดีทางเพศที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลทางการเมือง มักจะรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เหมือนละครพล็อตเดิม ที่มีจุดจบแบบเดียวกัน 
  • #หลานชายรัฐมนตรีมอมยาข่มขืน คือประเด็นร้อนล่าสุดที่กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง เมื่อหลานชายอดีตรัฐมนตรีล่วงละเมิดทางเพศดาราสาว แต่เมื่อเธอเข้าแจ้งความกับตำรวจ คดีความกลับไปคืบหน้า 
  • ไม่กี่เดือนก่อนหน้า ก็มีประเด็น #ปริญญ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงหลายคน สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับแวดวงการเมืองและสังคม พร้อมจุดกระแส #MeToo ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
  • กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยยังไม่เป็นมิตรต่อผู้หญิง และมีช่องโหว่ทางกฎหมายมากมายที่ทำให้ผู้หญิงเลือกที่จะเงียบ มากกว่าจะออกมาเอาผิดกับผู้กระทำ โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมือง

หนึ่งประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปอยู่ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นคดีดาราสาวที่ถูกนักธุรกิจ “หลานชายอดีตรัฐมนตรี” ล่วงละเมิดทางเพศภายในรีสอร์ตพูลวิลล่าหรู ก่อนจะไปแจ้งความที่โรงพักในพื้นที่ แต่คดีกลับไร้ความคืบหน้า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคดีความแบบนี้เกิดขึ้น แต่สังคมไทยมีคดีที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้ และสิ่งที่เหมือนกันในทุก ๆ คดีทางเพศที่มี “ผู้มีอิทธิพลทางการเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้อง คือคนทั่วไปจะรู้สึกได้ถึง “อำนาจมืด” ที่เข้ามาครอบงำกระบวนการยุติธรรม เหมือนเป็น “ละครพล็อตเดิม” ที่หลายคนเดาได้ว่าตอนจบของคดีความนี้จะเป็นอย่างไร 

#หลานชายรัฐมนตรีมอมยาข่มขืน

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ทันที เมื่อทนายตั้ม – ษิทรา เบี้ยบังเกิด ได้พาดาราสาวคนหนึ่งเข้าติดตามคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เธอไปแจ้งความกรณีที่ถูกนักธุรกิจเจ้าของบริษัทบันเทิง และเป็นหลานชายอดีตรัฐมนตรี 3 สมัย มอมยาในเครื่องดื่มและล่วงละเมิดทางเพศ ภายในรีสอร์ตพูลวิลล่าหรูแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ​เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และได้เข้าแจ้งความตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม แต่คดีความกลับไม่คืบหน้า

ความเคลือบแคลงใจว่ากำลังต่อสู้กับ “อำนาจมืด” เริ่มขึ้นตั้งแต่พี่สาวของดาราสาว ไปตามหาน้องสาวถึงรีสอร์ต แต่กลับถูกขัดขวางไม่ให้เข้า ขณะที่ตำรวจก็ปฏิเสธจะเข้าไปช่วยเหลือนำตัวดาราสาวออกมา โดยอ้างว่ากลัวโดนแจ้งข้อหาบุกรุก เกิดเป็นความสงสัยว่าเจ้าของรีสอร์ตแห่งนี้เป็นใคร ใหญ่โตขนาดที่ตำรวจไม่กล้าทำอะไรเลยหรือ เช่นเดียวกับการทำหน้าที่สอบสวนของรองผู้กำกับการสอบสวน สน.โชคชัย ที่ไม่ได้นำหลักฐานการสนทนาของผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งถือเป็น “หลักฐานสำคัญ” ใส่ลงไปในสำนวนคดี ซึ่งนั่นอาจทำให้สำนวนมีไม่เพียงพอต่อการดำเนินคดีและอาจถูกยกฟ้อง นอกจากนี้ยังมีความพยายามพูดเบี่ยงประเด็นว่าดาราสาวสมยอม ซึ่งทนายตั้มก็ตั้งคำถามในรายการ “โหนกระแส” ว่ารองผู้กำกับอาจมีวัตถุประสงค์อะไรเป็นพิเศษหรือไม่ 

  • ดาราสาวนัดคุยงานหลานอดีตรัฐมนตรี หมดสติคารีสอร์ต ช็อก ตรวจพบอสุจิในช่องคลอด
  • หลานชายอดีต รมว. รับทราบข้อหาข่มขืนนักแสดงสาว อ้างมีหลักฐานว่าถูกแบล็คเมล์
  • ดาราสาวยื่นค้านประกัน “หลานอดีต รมต.” หวั่นไม่ปลอดภัยหลังโดนขู่ กลัวสร้างหลักฐานเท็จอีก
  • “หลานอดีต รมต.” ชวดประกันตัวคดีวางยาข่มขืน ศาลหวั่นทำลายหลักฐาน หลังไม่ยอมให้ตรวจมือถือ

ต่อมา วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา อภิดิศร์ อินทุลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา ก็ได้เดินทางมาพบตำรวจ สน.โชคชัย เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจ ระบุว่าตัวเองถูกแบล็คเมล์ เนื่องจากเรื่องราวที่ผู้เสียหายอ้างในคืนเกิดเหตุไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันว่าตัวเองไม่มีคอนเนคชั่นหรือเส้นสายกับตำรวจที่ไหน ทางด้านทนายตั้มและดาราสาวผู้เสียหาย ก็ได้เดินทางไปที่ศาลอาญารัชดาในวันนี้ (30 สิงหาคม) เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการประกันตัว เพราะเกรงว่าหากได้รับการประกันตัวจะทำลายหลักฐานพยาน รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยของผู้เสียหาย หลังจากถูกข่มขู่ 

ล่าสุด (30 สิงหาคม 2565) พนักงานสอบสวน สน.โชคชัย ได้นำตัวอภิดิศร์ไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง ข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา หลังวานนี้ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาและถูกสอบปากคำนาน 9 ชั่วโมง ซึ่งอภิดิศร์ยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมขอยื่นประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้พนักงานสอบสวนตรวจโทรศัพท์มือถือ 

#ปริญญ์ รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่

ประเด็น #หลานชายรัฐมนตรีมอมยาข่มขืน ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนในแวดวงการเมืองตกเป็นข่าวคดีทางเพศ แต่ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ก็มีประเด็นของปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงหลายคน ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับแวดวงการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง พร้อมจุดกระแส #MeToo ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย 

  • “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โต้ข้อกล่าวหาลวนลามหญิงสาว
  • ศาลให้ประกันตัว “ปริญญ์” คดีอนาจาร-ข่มขืน เจ้าตัวย้ำยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม (คลิป)
  • ลูกนัท-แอนนา ยื่นคัดค้านประกันตัว “ปริญญ์” หวั่นเสียรูปคดี หนีออกนอกประเทศ
  • โผล่ไม่หยุด! “ทนายตั้ม” พาเหยื่อเข้าแจ้งความ “ปริญญ์” ทำอนาจาร รวม 8 รายแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ทนายตั้ม – ษิทรา เบี้ยบังเกิด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก เล่าว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาปรึกษาว่าถูกรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่คุกคามทางเพศ โดยที่เธอไม่ยินยอม และเมื่อค้นประวัติของรองหัวหน้าพรรคคนดังกล่าว ก็พบว่าเคยก่อเหตุลักษณะเดียวกันนี้กับหญิงไทยในต่างประเทศมาแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบเพราะพ่อมีอิทธิพลมาก เมื่อชาวเน็ตเริ่มหันมาสนใจกรณีดังกล่าว ก็ทำให้เกิดการสืบค้นประวัติและข้อมูล จนท้ายที่สุดก็มาเฉลยว่าเป็นปริญญ์ 

โพสต์ดังกล่าวของทนายตั้ม ทำให้มีผู้หญิงที่เคยโดนปริญญ์คุกคามทางเพศเข้ามาร้องทุกข์มากมาย และเมื่อผู้เสียหายรายแรกเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็มีผู้เสียหายรายอื่น ๆ ที่ขอดำเนินคดีด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับแอนนา – ทหัยรัตน์ ธนากิจอำนวย ภรรยาของไฮโซลูกนัท – ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ที่ออกมาเปิดเผยว่าเคยถูกปริญญ์ล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่กล้าออกมาแจ้งความในตอนแรก เพราะปริญญ์พูดในเชิงข่มขู่ บอกว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร และใช้กำลังบังคับเธอ หากปริญญ์เป็นคนทั่วไปคงแจ้งความไปแล้ว

ท่ามกลางกระแสโจมตีจากหลายฝ่าย ปริญญ์ก็ตัดสินใจออกมาแถลงข่าว โดยยืนยันความบริสุทธิ์ใจและปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องจริง อย่างไรก็ตาม ปริญญ์ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงของพรรค และยินดีเข้าสู่กระบวนยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริง 

ล่าสุด สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ ได้รายงานเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ระบุว่า มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความทั้งหมด 16 ราย สามารถรับเป็นคดีทั้งหมด 13 คดี แบ่งเป็นของ สน.ลุมพินี 10 คดี สน.ห้วยขวาง 1 คดี สภ.เมืองเชียงใหม่ 1 คดี และ สภ.เพชรบุรี 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่ขาดอายุความและอยู่นอกราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม มีคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งให้อัยการไปแล้ว 8 คดี สั่งฟ้องศาลแล้ว 4 คดี ที่เหลือยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ ผู้เสียหายยังยืนยันที่จะดำเนินคดีเอาผิดให้ถึงที่สุด และไม่มีใครถอนแจ้งความ 

งัดข้อกับผู้มีอิทธิพลและความเชื่อทางสังคม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยยังไม่เป็นมิตรต่อผู้หญิง และมีช่องโหว่ทางกฎหมายมากมายที่ทำให้ผู้หญิงเลือกที่จะเงียบ มากกว่าจะออกมาเอาผิดกับผู้กระทำ โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมือง โดย ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ในบทความเรื่อง “ปริญญ์ พานิชภักดิ์: แม้มีผู้ร้องเรียนเพิ่ม เหยื่อ-ผู้เชี่ยวชาญ ชี้กระบวนการยุติธรรมไทยยังเป็นอุปสรรคต่อผู้ถูกล่วงละเมิด” ระบุว่า เมื่อผู้หญิงกล้าพอที่จะลุกขึ้นมาแจ้งความและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนยุติธรรมจะพยายามทำให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยในที่สุด เช่นเดียวกับการเข้ามาแทรกแซงของปัจจัยอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ปัจจัยทางบุคคล ปัจจัยทางผลประโยชน์ หรือระบบอุปถัมภ์ ที่อาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนในการดำเนินคดี ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ คดีความที่เกิดขึ้นก่อนหน้า คล้ายกับมี “อำนาจมืด” บางอย่างที่ควบคุมกระบวนการยุติธรรมเอาไว้ ให้ไม่สามารถมอบความยุติธรรมที่แท้จริงให้กับผู้เสียหาย ทว่ามอบโทษที่น้อยนิด หรือไม่ลงโทษเลย ให้กับผู้กระทำผิดแทน 

ไม่ใช่แค่กลไกทางกฎหมายเท่านั้นที่เป็นปัญหา เมื่อมีคดีความทางเพศเกิดขึ้น แต่กลไกทางสังคมก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ “ละครพล็อตเดิม” ไม่หายไปไหน กล่าวคือ ผู้ถูกกระทำในคดีล่วงละเมิดทางเพศ ที่มีผู้อิทธิพลทางการเมืองเป็นผู้กระทำ มักถูกตำหนิว่าไม่รู้จักดูแลตัวเองให้ดี เป็นคนตัดสินใจไปพบเขาสองต่อสองด้วยตัวเอง หรือว่าเปิดโอกาสให้อีกฝ่าย หรือแม้แต่สมยอมเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเงิน การเมือง หรือไต่เต้าไปสู่ระดับหน้าที่การงานที่สูงกว่า

สุดท้ายแล้ว คดีความเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมรับผิดชอบ วิธีแก้ไขปัญหาทางเพศเช่นนี้ อาจไม่ใช่แค่การต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมที่เอนเอียงและปกป้องผู้มีอำนาจเพียงเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของทุกคนในสังคมเพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวโทษเหยื่อ และสร้างสังคมที่ปลอดภัยและให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของคนทุกเพศอย่างแท้จริง