ราชกิจจาฯ ขึ้นทะเบียนซากดึกดำบรรพ์ “วาฬบรูด้า” พบที่สมุทรสาคร อายุ 3,380 ปี

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.65 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมทรัพยากรธรณีเมื่อ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา เรื่อง ให้ซากดึกดำบรรพ์เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน ลงนามโดย นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565

โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 และข้อ 4 (2) แห่งประกาศคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ประกาศให้ซากดึกดำบรรพ์ของวาฬ “บาลีนอพเทอรา อีดีไน” (Balaenoptera edeni) ชื่อสามัญ Bryde’s whale (วาฬบรูด้า) อายุ โฮโลซีนตอนปลาย 3,380 ± 30 ปี จำนวน 141 ชิ้นตัวอย่าง

โดยมีสถานที่พบ คือ บ้านคลองหลวง ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่ง นายจิตติ วัฒนสินธุ์ ค้นพบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เจ้าของ/หรือผู้ครอบครอง บริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มอบให้กับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อนำไปศึกษาวิจัย โดยเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า จากการสำรวจขุดค้นครั้งนี้ยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบ เช่น ฟันฉลาม ฟันกระเบน เปลือกหอย ปูทะเล เพรียงทะเล และเศษไม้ รวมทั้ง ได้นำตัวอย่างเปลือกหอยซากพืชและกระดูกวาฬส่งวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14) ทั้งนี้จากการพบโครงกระดูกวาฬบนแผ่นดินห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร จะเป็นหลักฐานสำคัญบ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน สามารถศึกษาประวัติ วิวัฒนาการของวาฬ และสัตว์ทะเลในอดีต และเห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ร่วมกับวาฬ ภาพรวมใช้วิธีสำรวจด้วยการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์จะช่วยแปลความหมายถึงสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในปัจจุบันและอนาคตที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยกรมทรัพยากรธรณีจะศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต