ผู้เสียหายร้อง DSI เชียงใหม่ หลังแชร์ลูกโซ่หลอกลงทุนคริบโต สูญเงินหลักพันล้าน

รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเขตพื้นที่ 5 กรมสอบสวนคดีพิเศษ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มผู้เสียหายเบื้องต้นประมาณ 20 ราย นำข้อมูลหลักฐานเข้าร้องเรียนกับทางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อวันพุธ (24 ส.ค.) จากการถูกหลอกให้ร่วมลงทุนกับบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ที่อ้างว่าดำเนินธุรกิจซื้อขายเหรียญอิเล็กทรอนิกส์ (คริปโตเคอร์เรนซี) และทำเหมืองขุดบิตคอยน์ 

ผู้เสียหายแต่ละรายได้รับความเสียหายตั้งแต่ 30,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาทขึ้นไป ตลอดจนมีอีกหลายรายที่ได้รับความเสียหายหลักล้านบาท และเตรียมจะเข้าร้องกับเจ้าหน้าที่ต่อไป โดยมีการประเมินว่าจำนวนผู้เสียหายทั้งรายเล็กและรายใหญ่น่าจะมีรวมกันหลายพันราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,700 ล้านบาท

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องเอาไว้และเปิดให้ผู้เสียหายรายอื่นๆ นำหลักฐานเข้าร้องเพิ่มเติมได้ จากนั้นจะรวบรวมข้อมูล เพื่อพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์ ในการรับดำเนินการเป็นคดีพิเศษหรือไม่

ผู้เสียหายรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ได้รับการชักชวนจากคนรู้จักให้ร่วมลงทุนกับบริษัทดังกล่าวซึ่งมีการเปิดให้ร่วมลงทุนเริ่มต้นตั้งแต่ 30,000 บาท จนถึงหลักหลายล้านบาทได้รับผลตอบแทนปันผลเป็นกำไรตามสัญญา 10-15% ตามมูลค่าการลงทุน

ผู้เสียหายรายนี้ เล่าต่อไปว่า ในส่วนของตัวเองเริ่มลงทุนไป 100,000 บาท เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และในช่วง 2 เดือนแรกยังได้รับเงินปันผลจนกระทั่งล่าสุดทางบริษัท ไม่ได้จ่ายเงินปันผลให้ตามสัญญาแล้วพบว่ามีผู้ลงทุนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อสอบถามไปทางบริษัทก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและบ่ายเบี่ยงอยู่ตลอด จึงเชื่อว่าบริษัทนี้น่าจะเป็นลักษณะการหลอกให้ร่วมลงทุนเหมือนแชร์ลูกโซ่ และผู้เสียหายได้รวมกลุ่มกันเพื่อร้องขอความเป็นธรรมและ ความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

จากการประเมิน เชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียหายทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ และทั่วประเทศรวมแล้วหลายพันคน และมีมูลค่าความเสียหายหลักพันล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่าในส่วนของบริษัทดังกล่าวนั้น จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อปี 2562 ด้วยทุนจดทะเบียน 500,000 บาท ระบุวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียน ว่าประกอบกิจการรับจ้าง ออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ รับจดทะเบียนชื่อโดเมน

ต่อมาในปี 2565 เพิ่งจดทะเบียนเป็นบริษัท ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 500,000 บาทระบุวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนว่าประกอบกิจการรับจ้าง ออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ รับจดทะเบียนชื่อโดเมน บริการเช่าพื้นที่บนคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตามเจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัทที่ชักชวนคนให้ร่วมลงทุนมักจะอ้างว่าทำลงทุนเงินอิเล็กทรอนิกส์และใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทำเหมืองขุดเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ พร้อมมีการโพสต์เรื่องราวและภาพการใช้ชีวิตหรูหราทั้งรถสปอร์ตซูเปอร์คาร์,ผลกำไรจากการลงทุน และการทำธุรกิจ ซึ่งได้มีการเปิดให้ผู้อื่นร่วมลงทุนตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ เริ่มเกิดปัญหาในการ จ่ายเงินปันผลให้ผู้ร่วมลงทุน และนำมาสู่การรวมตัวกันของกลุ่มผู้เสียหายเข้าร้องขอความเป็นธรรมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยในส่วนของผู้ก่อตั้งบริษัทยังคงมีการเคลื่อนไหวผ่านทางโซเชียลมีเดียว่าไม่ได้หลบหนีและกำลังพยายามแก้ไขปัญหาเพื่อนำเงินมาให้ผู้ลงทุน