“บูลลี่ในโรงเรียน” ปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ “เรื่องของเด็ก ๆ”

Highlight

  • การบูลลี่ (Bully) หรือ “การกลั่นแกล้ง” หมายถึงการกระทำต่อบุคคลที่อ่อนแอกว่า ให้ได้รับอันตรายทางร่างกายหรือรู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจ ด้วยการกระทำซ้ำ ๆ อย่างตั้งใจ
  • ในปี 2563 เด็กไทยมีพฤติกรรมการกลั่นแกล้งหรือบูลลี่กัน เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น หรือเด็กไทยโดนบูลลี่ปีละประมาณ 600,000 คน ซึ่งคิดเป็น 40% ของนักเรียนทั้งหมด 
  • นักเรียนไทยที่รายงานว่าถูกบูลลี่อย่างน้อย 2 – 3 ครั้งต่อเดือน จะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่าถึง 33 คะแนน แสดงให้เห็นว่าการกลั่นแกล้งส่งผลทางลบต่อการประเมินด้านการอ่านของนักเรียน รวมไปถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำลง
  • สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาบูลลี่ในโรงเรียน คือโรงเรียนต้องปรับปรุงความเข้าใจเรื่องการบูลลี่ เช่นเดียวกับเปิดพื้นที่ในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ โดยคุณครูที่มีความเข้าใจและไม่ตีตราเด็ก

แม้จะมีความพยายามที่จะหาทางออกให้กับปัญหาเรื่อง “การบูลลี่ในโรงเรียน” แต่ปัญหานี้ก็ยังเป็น “ปัญหาเรื้อรัง” ของสังคมไทยที่ไม่สามารถหาทางรับมือหรือแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อจำนวนผู้ถูกกระทำมีเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น คล้ายกับว่าปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนไม่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และเป็น “เรื่องของเด็ก” ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรเข้าไปจัดการ ทว่า การบูลลี่ในโรงเรียนส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างร้ายแรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยเหตุนี้ จึงรวบรวมสถิติน่าสนใจเรื่องการบูลลี่ในโรงเรียนของประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันหาทางแก้ไข นำไปสู่การสร้างโรงเรียนที่ปราศจากการกลั่นแกล้ง และสังคมที่เคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียม 

  • ผปค.ช้ำ ม.2 ถูกมาเฟียห้องรังแก บอกถ้า รร.ไม่ลงโทษ จะโพสต์คลิปเสียงให้สังคมตัดสิน
  • เปิดใจเฟรชชี่ ม.ดังภาคอีสาน ถูกเพจโพสต์รูป-แคปชั่นบูลลี่รูปร่าง
  • ค่ายลูกเสือสุดเถื่อน เด็กถูกโรงเรียนอื่นรุม 20 ต่อ 7 อาวุธครบมือ ครู-ผอ.ปล่อยเรื่องเงียบ

“บูลลี่” คืออะไร

การบูลลี่ (Bully) หรือ “การกลั่นแกล้ง” หมายถึงการกระทำต่อบุคคลที่อ่อนแอกว่า ให้ได้รับอันตรายทางร่างกายหรือรู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจ ด้วยการกระทำซ้ำ ๆ อย่างตั้งใจ ซึ่งอาจเป็นการระราน ให้ร้าย ด่าว่า หรือข่มเหง การกระทำเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ซึ่งสาเหตุของการบูลลี่เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องความขัดแย้งระหว่างบุคคล ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสานา สีผิว เพศ สถานะทางสังคม หรือภาวะทางจิตใจ ทั้งนี้ การบูลลี่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำอย่างรุนแรง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สามารถแยกประเภทของการบูลลี่ได้ 4 ประเภท ได้แก่ 

  1. การบูลลี่ทางกายภาพ หรือการกระทำที่ใช้กำลังทางร่างกายต่อผู้ถูกกระทำ เช่น ตี เตะ ต่อย ผลัก ขัดขา กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือทำร้ายให้ร่างกายอีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผล นอกจากนี้ยังหมายถึงการทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหาย รวมถึงการใช้อาวุธ และการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ข่มขืน ลวนลาม อนาจาร หรือแตะต้องร่างกายอย่างไม่เหมาะสม 
  2. การบูลลี่ทางวาจา หรือการพูดส่อเสียด ล้อเลียน ใส่ร้าย ดูถูก ดูหมิ่น หรือประจานด้วยคำพูด ทำให้ผู้อื่นเกิดความอับอาย วิตกกังวล หรือเกิดความเครียด และอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ นอกจากนี้ การบูลลี่ทางวาจายังรวมถึงการแสดงความคิดเห็นทางเพศอย่างไม่เหมาะสมอีกด้วย 
  3. การบูลลี่ทางสังคม หรือการสร้างกระแสในสังคมให้ซ้ำเติมผู้ถูกกระทำ เหมือนกับการยืมมือคนรอบข้างมาร่วมกันทำร้ายคนอื่น เช่น การสร้างข่าวลือที่จงใจให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ถูกกระทำ การแบนหรือกีดกันไม่ให้รวมกลุ่ม หรือทำให้รู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ รวมไปถึงการยุยง ตำหนิ หรือข่มขู่โดยใช้กระแสในสังคม
  4. การบูลลี่ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ ไซเบอร์บูลลี่ เป็นการบูลลี่โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งข้อความ การเผยแพร่รูปภาพหรือคลิปวิดีโอที่น่าอับอาย ไปจนถึงการด่าทอ การคุกคาม หรือการขู่ทำร้ายบนโลกออนไลน์ ก่อให้เกิดความอับอายหรือทำลายชื่อเสียง 

นักเรียนไทยโดนบูลลี่เป็นอันดับ 2 ของโลก 

จากสถิติของกรมสุขภาพจิต ชี้ว่า ในปี 2563 เด็กไทยมีพฤติกรรมการกลั่นแกล้งหรือบูลลี่กัน เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น หรือเด็กไทยโดนบูลลี่ปีละประมาณ 600,000 คน ซึ่งคิดเป็น 40% ของนักเรียนทั้งหมด และการบูลลี่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนชั้นมัธยม 

เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรงในสถานศึกษา” ในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10 – 15 ปี จากทั้งหมด 15 โรงเรียน พบว่า เด็กร้อยละ 91.97 เคยถูกบูลลี่ ซึ่งวิธีการที่ใช้บูลลี่มากที่สุดคือ การตบหัว (ร้อยละ 62.07) ล้อบุพการี (ร้อยละ 43.57) พูดจาเหยียดหยาม (ร้อยละ 41.78) และอื่น ๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดให้ร้าย เสียดสี และกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ 

1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งหมด ระบุว่า เคยถูกบูลลี่ประมาณเทอมละ 2 ครั้ง และ 1 ใน 4 จากทั้งหมดถูกบูลลี่มากถึงสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ซึ่งคนที่แกล้งส่วนใหญ่เป็นเพื่อน รุ่นพี่ หรือรุ่นน้อง นอกจากนี้ เด็กกว่าร้อยละ 68.93 มองว่า การบูลลี่ถือเป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง 

จากแบบสำรวจชุดเดียวกันนี้ ยังชี้ให้เห็นผลกระทบที่เห็นได้ชัด โดยเด็กมากกว่าร้อยละ 43 คิดจะโต้ตอบเอาคืน รองลงมาคือเด็กเกิดความเครียด ไม่มีสมาธิกับการเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน เก็บตัว และมีอาการซึมเศร้า สอดคล้องกับแบบสำรวจของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (PISA) ที่ระบุว่า นักเรียนที่มีคะแนนการอ่านต่ำ รายงานว่าถูกบูลลี่อย่างน้อย 2 – 3 ครั้งต่อเดือน และเมื่อพิจารณาคะแนนการอ่านกับดัชนีการถูกกลั่นแกล้ง พบว่า เมื่อตัดผลกระทบของตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนกับโรงเรียนแล้ว หากค่าดัชนีการถูกกลั่นแกล้งเพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลให้คะแนนการอ่านของนักเรียนในประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ลดลง 9 คะแนน ส่วนประเทศไทยจะส่งผลให้คะแนนการอ่านลดลง 14 คะแนน ซึ่งนักเรียนไทยที่รายงานว่าถูกบูลลี่อย่างน้อย 2 – 3 ครั้งต่อเดือน จะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่าถึง 33 คะแนน แสดงให้เห็นว่าการกลั่นแกล้งส่งผลทางลบต่อการประเมินด้านการอ่านของนักเรียน รวมไปถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำลงไปด้วยเช่นกัน 

บูลลี่ในโรงเรียนคือปัญหาระดับโลก 

ปัญหาเรื่องการบูลลี่ในโรงเรียน ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอยู่ และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยรายงาน School Violence and Bullying: Global Status Report ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่า ประเด็นเรื่องการบูลลี่และความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งส่งผลกระทบต่อเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างมาก มีการประเมินว่าเด็กและวัยรุ่นมากกว่า 246 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับความรุนแรงในโรงเรียน จากการโดนบูลลี่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งในโรงเรียนแต่ละประเทศก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป 

สถาบันสถิติศาสตร์ (UIS) ของ UNESCO ชี้ว่า เยาวชนเกือบ 1 ใน 3 ทั่วโลก มีประสบการณ์ถูกล้อเลียน รังแก แกล้ง หรือถูกบูลลี่มาก่อน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่น่าวิตก เพราะตอกย้ำปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลด้านลบต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กทั่วโลก เช่นเดียวกับรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ที่พบว่าการบูลลี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ข้อมูลจากการสำรวจ 106 ประเทศทั่วโลก บ่งชี้ว่าวัยรุ่นอายุ 13 – 15 ปี มีประสบการณ์โดนบูลลี่มากที่สุด 

การจัดการกับปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน 

ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่หลายฝ่ายต้องเข้ามาจัดการและแก้ไข โดยเฉพาะ “โรงเรียน” แต่ว่าในหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์เด็กถูกบูลลี่ หรือเกิดความรุนแรงขึ้น โรงเรียนกลับไม่ให้การช่วยเหลือ หรือมีความพยายามในการปกปิดเรื่องราว หรือไกล่เกลี่ยให้มีการยอมความหรือจบเรื่อง แต่ไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำอย่างถูกต้อง ดังนั้น สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาบูลลี่ในโรงเรียน คือโรงเรียนต้องปรับปรุงความเข้าใจเรื่องการบูลลี่ เช่นเดียวกับเปิดพื้นที่ในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ โดยคุณครูที่มีความเข้าใจและไม่ตีตราเด็ก เช่นเดียวกับการเปิดพื้นที่ให้มีการพบปะพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างเด็กที่เป็นคู่ขัดแย้ง 

นอกจากโรงเรียนและ “ผู้ปกครอง” ก็มีบทบาทในการช่วยป้องกันไม่ให้ลูกถูกบูลลี่ หรือไม่ให้ลูกไปบูลลี่คนอื่นด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกและรับฟังลูกอย่างเปิดใจ หากลูกอยู่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบูลลี่ ผู้ปกครองต้องไม่ปล่อยให้ลูกต่อสู้กับเรื่องนี้โดยลำพัง นอกจากนี้ การปลูกฝังพฤติกรรมและแนวคิดเรื่องความเท่าเทียม ความเห็นอกเห็นใจ และความเป็นมนุษย์ก็ควรเริ่มต้นจากที่บ้าน 

ไม่เพียงแค่โรงเรียนและบ้านเท่านั้น แต่มาตรการทาง “กฎหมาย” ก็ควรมีส่วนที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขและป้องกันปัญหาการบูลลี่ด้วยเช่นกัน ดังเช่นในหลายประเทศที่มีความพยายามในการออกกฎหมาย เพื่อรับมือกับสถานการณ์การบูลลี่ที่เกิดขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีความตระหนักเรื่องปัญหาการบูลลี่ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก แใ่จะยังไม่มีกฎหมายในระดับสหพันธรัฐเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว แต่สหรัฐฯ ก็ให้ความคุ้มครองผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง ที่มีสาระสำคัญสำคัญเรื่องห้ามการเลือกปฏิบัติ บนพื้นฐานเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ชาติพันธุ์ และเพศ ด้านประเทศญี่ปุ่น ที่การบูลลี่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมญี่ปุ่น ทำให้ปี 2013 ญี่ปุ่นออกกฎหมายส่งเสริมมาตรการป้องกันการกลั่นแกล้ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างกลไกป้องกัน ตรวจหา และรายงานพฤติกรรมการกลั่นแกล้งของเด็ก โดยกำหนดหน้าที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 

สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีกฎหมายที่ต่อต้านการบูลลี่หรือกลั่นแกล้งโดยตรง แต่ก็มีกฎหมายหลายฉบับที่ใช้สามารถนำมาปรับใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์การบูลลี่ ที่รวมถึงการไซเบอร์บูลลี่ ทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง อย่างไรก็ตาม วิธีการรับมือที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดคงเป็นการสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับประชาชนทุกคนอย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และสร้างสังคมที่ทุกคนเคารพกันและกันอย่างแท้จริง