“บางกอกไพรด์ 2023” ว่าด้วย LGBTQIAN+ ผู้ขับเคลื่อน GDP และการตลาดแบบสาดสีรุ้ง

Highlight

  • จากกลุ่มนักกิจกรรมที่รวมตัวเพื่อจัดงาน “บางกอกนฤมิตไพรด์ 2022” กลายเป็นกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายใต้ชื่อ “บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด” ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงานบางกอกไพรด์ 2023
  • การตระหนักรู้ของคนในสังคมต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศที่มีเพิ่มมากขึ้น ก็มาพร้อมกับ “การฉวยโอกาส” ของภาคธุรกิจ ที่อาจใช้ความนิยมดังกล่าวมาสร้างยอดขายให้กับสินค้าของตัวเอง และนั่นเป็นสิ่งที่บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ตระหนักถึงและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
  • คอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ คือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ อุตสาหกรรมการบริการ และอุตสาหกรรมการแพทย์
  • บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ยังพยายามผลักดันให้กรุงเทพฯ​ กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับ LGBTQIAN+ ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือการได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028 

“อย่าถามว่าจะช่วยเหลืออะไรเรา เราคือคนเขยื้อน GDP ในโครงสร้างสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์” 

เดือนมิถุนายนเวียนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับธงสีรุ้งแห่งความภาคภูมิใจ เฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ที่จะโบกสลัดทั่วทุกมุมโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่จะได้ร่วมเฉลิมฉลองให้กับทุกความหลากหลายใจกลางสยาม ในงาน “บางกอกไพรด์ 2023” ซึ่งปีนี้มาพร้อมกับแนวคิด BEYOND GENDER ที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียมให้กับทุกกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเพศ​ ชาติพันธุ์ ชนชั้น หรือสีผิว 

จากกลุ่มนักกิจกรรมที่รวมตัวเพื่อจัดงาน “บางกอกนฤมิตไพรด์ 2022” กลายเป็นกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายใต้ชื่อ “บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด” ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดไพรด์พาเหรด พร้อมกับผลักดันให้กรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028 ที่ไม่เพียงจะสร้างเม็ดเงิน สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ​ แต่จะเป็นการยืนยันถึงสังคมที่เปิดรับความหลากหลายอย่างแท้จริง 

พูดคุยกับบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ถึงที่มาที่ไปของการจัดงานสุดยิ่งใหญ่แห่งเดือนสีรุ้ง ตลอดจนประเด็นเรื่องการตลาดแบบสาดสีรุ้ง ที่อาจจะเป็นดาบสองคมของคอมมูนิตี้ และการเตรียมพร้อมจะเป็นเจ้าภาพงาน World Pride 2028 

ก่อนจะเป็นบางกอกไพรด์ 2023

“เราเริ่มต้นจากการจัดงานไพรด์ปี 2022 โดยจัดในชื่อ บางกอกนฤมิตไพรด์ ซึ่งตอนนั้นการจัดงานไพรด์พาเหรดในกรุงเทพฯ ถูกเว้นว่างมากว่า 20 ปี แล้วก็เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าสังคมเปิดกว้าง จึงชวนเพื่อน ๆ นักกิจกรรมหลายกลุ่มมาร่วมกันจัดงาน” ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด เริ่มต้นเล่าย้อนไป 

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

สอดคล้องกับภิรญา ธีระโชติกรกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ที่เล่าว่า ทีมงานคาดการณ์ว่าคงมีคนมาเข้าร่วมไพรด์พาเหรดของปีที่แล้วเพียง 3,000 คนเท่านั้น แต่วันงานกลับมีประชาชน หน่วยงานต่าง ๆ และนักท่องเที่ยว เดินทางมาร่วมงานมากกว่า 20,000 คน 

“คือเราก็คุยกันเล่น ๆ ว่าจัดงานไพรด์กันเถอะ ช่วงก่อนหน้านั้นเราก็ทำม็อบกันอยู่แล้ว จึงมีเวลาเตรียมตัวแค่เดือนเดียว ไม่มีเงินด้วย แต่เรามันนักสู้ เราก็ลงถนนเลย จนหลังจบงาน เราก็จตั้งใจว่าปีหน้าจัดอีกดีกว่า เพราะมันโคตรสนุกเลย ก็เลยเตรียมตัว วางแผนกันอยู่ประมาณ 7 – 8 เดือน จนกลายเป็นบางกอกไพรด์ 2023” ภิรญาเล่า

“ครั้งนี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่เราสามารถปิดถนนเส้นพระราม 1 และบริเวณสยามคือประวัติศาสตร์ของ LGBTQIAN+ จำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่เป็นเยาวชน ให้พวกเขาสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้ สยามยังเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องสำคัญ ก็คือเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ จนกระทั่งสามารถอุ้มชูและโอบอุ้มหัวใจของคนที่ไม่ได้รับการยอมรับในครอบครัว การปิดแยกราชประสงค์อีกครั้ง เพื่อจะยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายทางเพศ อันนี้น่าจะเป็นหัวใจสำคัญ ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด เอกอัครราชทูต หน่วยงานราชการ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะมาร่วมเดินบนท้องถนน เพื่อยืนยันว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่ควรจะพร้อมกับพื้นที่เสรีภาพและความหลากหลายทางเพศ” ชุมาพรเสริม

ภิรญา ธีระโชติกรกุล

“งานนี้เกิดขึ้นจากคอมมูนิตี้ คนร่วมจัดงงานก็คือนักกิจกรรมที่ต่อสู้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากภาคธุรกิจใหญ่ ๆ ไม่ได้มาจากห้างร้ายใหญ่ ๆ ไม่ได้มาจากบริษัทบันเทิงใหญ่ ๆ ที่จัดงานครั้งนี้ขึ้นมา การมีคอมมูนิตี้มากกว่า 50 คอมมูนิตี้ที่เขาสู่เรื่องสิทธิ์มาโดยตลอด มายืนอยู่ตรงนี้ เราคิดว่านี่คือพรมรุ้งแห่งความภาคภูมิใจ” ชุมาพรกล่าว

การตลาดแบบสาดสีรุ้ง

งาน Bangkok Pride 2023 ถือเป็นงานขนาดใหญ่ที่ได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน ทั้งกรุงเทพมหานคร ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ซึ่งมีมากกว่า 50 องค์กร มาช่วยทำงานในส่วนต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ของคนในสังคมต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศที่มีเพิ่มมากขึ้น ก็มาพร้อมกับ “การฉวยโอกาส” ของภาคธุรกิจ ที่อาจใช้ความนิยมดังกล่าวมาสร้างยอดขายให้กับสินค้าของตัวเอง และนั่นเป็นสิ่งที่บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ตระหนักถึงและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก 

“เวลาที่พื้นที่ความหลากหลายเบ่งบานขึ้นมา ก็จะเกิด Rainbow Washing ขึ้น หมายความว่าจะมีคนที่อยากตักตวงผลประโยชน์จากเทรนด์โลกที่เกิดขึ้น แต่อย่าลิมว่าเทรนด์ของโลกที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดจากความเจ็บปวด การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง เพราะฉะนั้นนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม หรือคนทำงานเรื่อง LGBTQIAN+ ทุกประเทศ จะสร้างป้อมปราการอย่างหนักที่จะไม่ให้ภาคธุรกิจเข้ามาตักตวงผลประโยชร์จากความเจ็บปวดของพวกเรา” ชุมาพรชี้ 

ขณะที่ภิรญาก็สะท้อนปัญหา Rainbow Washing ของหลายแบรนด์สินค้าและบริษัท ที่ใช้ “สีรุ้ง” มาแต่งเติม ก็สามารถสร้างกำไรได้แล้ว แต่กลับไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นคืออะไร ควรให้การสนับสนุนหรือผลักดันอย่างไร พร้อมระบุว่า 

“พาร์ทเนอร์ที่เข้ามาทำงานร่วมกับเราในตอนนี้ค่อนข้างน่ารักและเข้าใจ แต่ถามว่าเคยเจอแบบที่ไม่น่ารักไหม ก็เคยเจอ และรู้สึกเสียใจ เรารู้สึกว่าธุรกิจหลายที่หรือแม้แต่บริษัทใหญ่ ๆ ไม่ได้มีความเข้าใจ ถ้าเขาอยากผลักดันหรือทำการตลาดเรื่องนี้ จริง ๆ ไม่ต้องมาอยู่ที่ตัวสินค้าก็ได้ สินค้าไม่ต้องเอาสีรุ้งมาหรอก เรามองว่ามันเปิดกว้างไปถึงเรื่อง Diversity แล้ว มันต้องมองไปถึงแก่นแม้ว่าความหลากหลายคืออะไร อันนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญของภาคธุรกิจ” 

“บางกอกไพรด์เองก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนกับภาคธุรกิจ มันปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องใช้เงินทุน แต่เราไม่อยากให้ใครมาหาผลประโยชน์จากเรา เวลาเราคุย เราจึงมี 3 อย่างที่เอามาพิจารณา หนึ่งคือเราดูว่าบริษัทหรือแบรนด์นั่้น ๆ มีสวัสดิการของพนักงานหรือเปล่า มีการทำแคมเปญหรือทำอะไรที่ดูแลพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า สองคือบริษัทเข้าใจมากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ​ และสามคือบริษัทเคยมีประเด็นการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยามหรือเปล่า แล้วสุดท้ายเราค่อยมาคุยกันเรื่องเงินทุน นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขั้นสำหรับการทำงานของบางกอกไพรด์” ภิรญาอธิบาย

ผู้ขับเคลื่อน GDP ของประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ คือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับ “ทุกคน” ในสังคม 

“อุตสาหกรรมแรกคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ในแคมเปญ Go Thai Be Free ประชาสัมพันธ์ว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ให้การต้อนรับ LGBTQIAN+ เป้าหมายใหญ่ของเราก็คือนักท่องเที่ยวตะวันตกและจีน อุตสาหกรรมที่สองที่เรามองเห็น คืออุตสาหกรรมภาคบริการ ก่อนหน้านี้ผับ บาร์ คาบาเรต์ โด่งดังมาก เรามองเห็นว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาแดร็กโชว์ที่ใหญ่แบบคาบาเรต์ได้ เรามีคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ และอีกอันที่เรารู้สึกว่าสนุกที่สุดเลย ก็คือธุรกิจการประกวดนางงาม แล้วมันครึกครื้นมาก” ชุมาพรกล่าว 

“อันที่สามของเรา มันเห็นภาพชัดเจนเมื่อปีที่ผ่านมา คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ ซีรีส์วายสามารถตีตลาดได้เป็นหลัก 1,500 ล้านบาท และสุดท้ายซึ่งเป็นตัวเขยื้อน GDP ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสี่อุตสาหกรรม คือศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ การยืนยันเพศจากการใช้ฮอร์โมน การยืนยันเพศจากการผ่าตัดแปลงเพศ กรุงเพทฯ มีไพรด์คลินิก 29 แห่ง โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีไพรด์คลินิกเกือบทุกแห่ง โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่พยายามเปิดพื้นที่ไพรด์คลินิกที่รอบด้าน ตัวนี้คือ Long-term Residence และสามารถเขยื้อน GDP ระดับหมื่นล้านถึงแสนล้าน” ชุมาพรอธิบาย

เส้นทางสู่ World Pride 2028

ไม่เพียงแค่เป้าหมายที่จะจัดบางกอกไพรด์ 2023 ให้ประสบความสำเร็จ และกลายเป็นงานประจำปีของกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ยังพยายามผลักดันให้กรุงเทพฯ​ กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับ LGBTQIAN+ ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือการได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride ซึ่งทางทีมงานกำลังตั้งใจอย่างหนักที่จะเข้าร่วมการประมูล (Bid) ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตในการเป็นเจ้าภาพงานในปี 2028 

“ถ้าเรามองเรื่องวัฒนธรรมกีฬา โอลิมปิกมีชื่อเสียง ฟีฟ่ามีชื่อเสียง World Pride ในประเด็น LGBTQIAN+ หรือความหลากหลายทางเพศก็เป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพราะฉะนั้นเจ้าภาพแต่ละเมือง หรือแต่ละประเทศที่จัด ก็ต้องเป็นเจ้าภาพที่มีความพร้อมที่จะเปิดรับความหลากหลายทางเพศ เปิดรับในตัวตนเรื่องสิทธิความหลากหลายจากคนทั่วโลก นี่เป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นการเปิดศักราช ยืนยันตัวตน และเป็นการประกาศว่าประเทศเราเปลี่ยนไปแล้ว ในเรื่องความเข้าใจทางเพศ” ชุมาพรชี้ 

“ประโยชน์สำคัญคือมันจะทำให้เห็นว่า LGBTQIAN+ ในประเทศได้รับการยอมรับ ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดต้องเกิดกับคอมมูนิตี้ อันดับสองคือกฎหมายจะเขยื้อนให้ประเทศไทยก้าวหน้าขึ้น อันดับสามคือเศรษฐกิจ เม็ดเงินของ World Pride เทียบเท่าได้กับโอลิมปิก หรืองานเอ็กซ์โปขนาดใหญ่เลย และสุดท้ายสิ่งที่เราคาดหวังมากที่สุด คือเราอย่าลืมว่าสังคมเอเชียตะวันออก ยังเป็นสังคมที่ปิดกั้น ดังนั้น ทันทีที่เราได้ใบอนุญาตจัด World Pride สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเอเชีย ซึ่งอันนี้คือหัวใจที่เราอยากจะมองเห็น” ชุมาพรกล่าวปิดท้าย 

ขอเชิญชวนเข้าร่วมงานพาเหรดที่สนุกสนาน เป็นมิตรกับคนทุกเพศ ทุกวัย และให้ความใส่ใจสำหรับผู้พิการ ในงาน “บางกอกไพรด์ 2023” โดยขบวนจะเริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมธงสีรุ้งที่จะโบกสะพัดเพื่อประกาศถึงความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกิจกรรมไฮไลต์อีกมากมายตลอดเส้นทาง วันที่ 4 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 – 20.00 น.