นักเศรษฐศาสตร์โนเบล ชี้ “เด็กปฐมวัย” คือช่วง “สมองทอง” ในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการ เรื่อง “Early Childhood Development Series: First Starts” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮคแมน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก เจ้าของรางวัลโนเบล กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “Promoting Skills To Promote Successful Lives” และการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต: ปฐมวัย วัยแห่งโอกาสในการยกระดับคุณภาพ ความเสมอภาค และประสิทธิภาพ” 

ศ.ดร.เจม เจ เฮคแมน กล่าวว่า การกระตุ้นให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาทั่วโลก มุ่งมั่นลงทุนสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาตั้งแต่ยังเล็ก (Early childhood) การมุ่งเน้นการเสริมทักษะชีวิตที่จำเป็น ที่จะมีส่วนช่วยในการเลื่อนสถานะทางสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับการให้ความรู้พ่อแม่ เกี่ยวกับทักษะและบทบาทที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกหลานในครอบครัว ซึ่งการพัฒนามนุษย์มีความสำคัญที่สุด โดยการพัฒนาที่จำเป็นที่สุดก็คือ “การให้การศึกษา” เพราะเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า การแก้ไขปัญหาภาษี รวมทั้งการให้สวัสดิการบางส่วนแก่ครอบครัวยากจนที่มีเด็กเล็กในวัยศึกษา เป็นการลงทุนในระยะยาว เพราะพวกเขามีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น และหากพวกเขาได้รับโอกาสที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดปัญหาการส่งต่อความจนจากรุ่นสู่รุ่นได้ 

หนึ่งในกุญแจหลักที่จะช่วยให้การพัฒนาทุนมนุษย์เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ Public Policy หรือนโยบายสาธารณะ ที่ให้ความสำคัญในเชิงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดการระบบฐานข้อมูลเพื่อความการณ์คาดเป็นไปได้ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ขณะเดียวกัน ในส่วนของการลงทุนพัฒนามนุษย์นั่น ยิ่งเร็วเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น ซึ่งต้องลงมือปลูกฝังบ่มเพาะทักษะของเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ๆ (ประมาณ 2 – 3 ขวบ) เป็นต้นไป สิ่งที่ปลูกฝังให้กับเด็กในช่วงวัยนี้จะเป็นสิ่งที่สร้างตัวตนและลักษณะนิสัยของเด็กที่จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จของเด็กคนนั้น ๆ ในอนาคต

“การมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงความฉลาด (IQ) ดีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีทักษพการเรียนรู้ที่เหมาะสมควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการเข้ากับบุคคลอื่น การควบคุมตนเอง การมีส่วนร่วมในสังคม และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จในชีวิตไม่น้อยในปัจจุบัน และ IQ ไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างที่ใครหลายคนเชื่อกัน” ศ.ดร.เฮคแมน กล่าว

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า กสศ. เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพครู ทั้งนี้ เด็กปฐมวัยนับเป็นหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. ให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย 

“ตอนนี้ประเทศไทยน่าจะใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เด็กที่เกิดใหม่มีจำนวนน้อย หากไม่ร่วมมือกันทุกฝ่าย เร่งพัฒนาและสร้างทุนมนุษย์ที่เข้มแข็งให้สังคมและประเทศชาติ เราน่าจะพอมองเห็นว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร อยากให้ทุกฝ่าย ทั้งหน่วยวิชาการ หน่วยนโยบายทุกระดับ หรือผู้ปฏิบัติทุกภาคส่วน บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในเรื่องนี้อย่างมุ่งมุ่น” รศ.ดร.ดารณี ระบุ

เช่นเดียวกับ ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ชี้ว่า กสศ.ดำเนินการด้วยการใช้องค์ความรู้นวัตกรรม งานวิจัย ข้อมูล และความร่วมมือ ทั้งจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในการช่วยกันร่วมเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นทาง และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับพื้นที่จังหวัดหรือระดับประเทศ​ 

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การศึกษาของ ศ.ดร.เฮคแมน นั้นมีประโยชน์มาก และในปีนี้ กสศ.ก็มุ่งเน้นเรื่องการศึกษาวิจัยด้าน Parenting หรือการปกครองเลี้ยงดู เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะเชื่อว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กวัยนี้ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยใช้วิธีการเยี่ยมบ้านของเด็กปฐมวัย พร้อมเน้นย้ำว่าครอบครัวแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทุก ๆ ด้าน