ทรัพย์ในป่า! ชาวบ้านเก็บฝักเหรียงในป่า สร้างรายได้กว่า 30,000 บาท

ลูกเหรียง พืชตระกูลเดียวกับสะตอ มีฝักคล้ายสะตอ แต่สะตอสามารถสอยลงมากินสดได้ขณะที่ลูกเหรียงต้องรอให้ฝักหล่นเพราะลำต้นสูงใหญ่ และต้องผ่านกระบวนการเพาะก่อนจะนำมากินได้ และรสชาติทั้งเหรียงและสะตอจะคล้ายกัน

ชาวบ้านพื้นที่ม.6 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล ซึ่งพื้นที่โดยรอบติดเชิงเขา ทำให้มีต้นเหรียงจำนวนมาก ชาวบ้านจะชวนลูกหลานซึ่งปิดภาคเรียนแล้วเข้าป่าเก็บฝักเหรียงที่หล่นลงมาจากต้น เพื่อนำไปเพาะขายเป็นรายได้เสริม ต้นเหรียงสูงใหญ่ไม่สามารถปีนขึ้นไปเก็บได้ต้องรอให้ฝักร่วงเท่านั้น โดยชาวบ้านจะออกเก็บฝักเหรียงในช่วงฤดูแล้งเดือน ก.พ.-เม.ย.ของทุกปี

นางสาวสุวรรณา พรหมแก้ว อยู่บ้านหมู่ที่6 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล กล่าวว่า ทุกปีช่วงหน้าแล้งหยุดกรีดยาง ตนต้องเข้าป่าเพื่อไปเก็บฝักลูกเหรียงนำมาเพาะขาย โดยเมื่อเก็บมาแล้วนำมาปลอกเอาเมล็ดมาใส่ตะแกรงแล้วร่อนเศษของเปลือกออกจนเหลือแต่เมล็ด

โดยเมล็ดเหรียงจะขาย ก.ก.ละ 100 บาท มีพ่อค้าประจำมารับซื้อ แต่สำหรับของตนจะเพาะเมล็ดขาย โดยนำเมล็ดมาตัดจากนั้นเอาไปแช่น้ำ หรือเอาไปฝังไว้ในฟางที่เปียกชื้นเพื่อให้ออกหน่อ 3-4 วันก็จะออกหน่อเปลือกสีดำด้านนอกจะแตกออกมา เราก็แกะเนื้อสีเขียวด้านในออกมา

ลูกเหรียงรสชาติและกลิ่นจะเหมือนกันสะตอ นิยมนำมากินสดแกล้มน้ำพริก หรือเอามาแกงคั่วกับเนื้อ แกงกะทิ ผัดเผ็ด หรือนำไปดองกินกับขนมจีนก็อร่อย ราคาลูกเหรียงเพาะแล้วพร้อมกินอยู่ที่ก.ก.ละ150-200 บาท

สำหรับต้นเหรียงที่ตนไปเก็บนั้น จะอยู่ในป่าปลายสวนยาง มีอยู่ 3 ต้น แต่ละต้นจะสูง30-50 เมตร แต่ละปีตนมีรายได้จากการเก็บลูกเหรียง นี้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ถือเป็นรายได้ในช่วงหยุดกรีดยาง