น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับหนี้สินครัวเรือนที่ “สภาพัฒน์” ประกาศล่าสุด ไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 3.5 ของไตรมาสก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564
ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 86.8 ลดลงจาก 88.1 จาก ไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ “สภาพัฒน์” ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนขยายตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่มีการขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ขยายตัวถึงร้อยละ 11.8 และร้อยละ 21.4 ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดการใช้เงินสดมากขึ้น
ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย มีเงื่อนไขการสมัครไม่มาก และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยยังมีปัญหาสภาพคล่องจึงมีการใช้บริการสินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้น
ข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า กลุ่มลูกหนี้ดีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกลายเป็นหนี้เสียยังมีปริมาณมาก แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลง แต่มูลค่าหนี้เสียของกลุ่มดังกล่าวยังสูงถึง 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 และมีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชีจาก 4.3 ล้านบัญชีของไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเกือบร้อยละ 60 เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล
และจากสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเสมือนกับดักต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต และถือเป็นโจทย์ของรัฐบาลชุดถัดไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ
โดย ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด บอกว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องใช้เวลา เพราะวันนี้คนที่วนเวียนกับวงจรหนี้ เพราะมีหนี้หลายแหล่ง รายได้ไม่พอใช้จ่าย แต่ถ้าเศรษฐกิจดี รายได้ประชาชนมากขึ้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนก็จะลดลง
“หนี้ครัวเรือนถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้ดีขึ้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนคงลดลงมา จากที่เคยอยู่ร้อยละ 90 ต่อจีดีพี ฉะนั้นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ก็คงขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย”
นอกจากนี้ ประธาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังพึ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกยังคงเปราะบาง
คือเศรษฐกิจไทยยังพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลักในปีนี้ ก็จะเห็นตัวเลขส่งออกเดือนมกราคมยังหดตัวต่อเนื่องมา ฉะนั้นการฟื้นตัวในปีนี้ยังค่อนข้างจะเปราะบาง และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอาจจะขึ้นไปสูงและยาวนานกว่าที่คาด และก็ยังต้องระมัดระวังภาวะความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เหตุการณ์อีกอันก็คือ เงินบาทค่อนข้างเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างมากๆ ในระยะเวลาไม่นาน อันนี้ผู้ส่งออกอาจจะต้องระมัดระวัง ผิดจังหวะนิดนึง เงินบาทก็อาจจะไปอยู่อีกด้านนึงจากที่เคยคาดไว้ ฉะนั้นสถานการณ์ต่างๆ ก็คือยังต้องระมัดระวัง ทำธุรกิจก็จะต้องดูเรื่องสภาพคล่องและก็ดูเรื่องค่าเงิน”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะวัดฝีมือรัฐบาลหลังเลือกตั้งนั่นเอง